เด่นโซเชียล

ดราม่า "สนามบินเบตง" ใช้งานไม่ได้เพราะรันเวย์สั้น แจงแล้วข่าวบิดเบือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สนามบินเบตง" เกิดดราม่าสนั่น หลังเจอชาวเน็ตบอกทุ่มงบ 1.9 พันล้าน แต่ใช้งานไม่ได้เพราะรันเวย์สั้นแถมต้องใช้น่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน งานนี้ชี้แจงแล้วข่าวบิดเบือน

 

"สนามบินเบตง" กลายเป็นประเด็นร้อนที่ชาวเน็ตให้การจับตามองเป็นอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านั้นชาวเน็ตต่างพากันแห่แชร์เรื่องราวที่มีการอ้างว่าสนามบินเบตงที่ทุ่มงบไป 1.9 พันล้านบาท ไม่สามารถเปิดใช้งานได้เพราะรันเวย์สั้น เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ลงไม่ได้ต้องใช้น่านฟ้าประเทศมาเลเซีย และสนามบินไม่มีคลังน้ำมันสำหรับเครื่องบิน งานนี้ได้รับการชี้แจงแล้วเป็นข่าวบิดเบือน

 

 

 

 

"สนามบินเบตง" กลายเป็นดราม่าสนั่นโซเชียลสืบเนื่องจากก่อนหน้านั้นมีข้อความที่มีการอ้างว่า สนามบินเบตงงบประมาณ 1,900 ล้านบาท สร้างเสร็จมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่เปิดใช้งานไม่ได้เพราะรันเวย์สั้น เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ลงไม่ได้ เวลาเครื่องจะลงต้องตั้งลำเข้าไปในน่านฟ้ามาเลเซีย มาเลฯ ไม่อนุญาต และสนามบินไม่มีคลังน้ำมันสำหรับเครื่องบิน ซึ่งข้อความเหล่านี้ทำให้ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด

 

จนต่อมาทางด้านเพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงประเด็นที่เกิดขึ้นว่า ข่าวบิดเบือน สนามบินเบตงสร้างเสร็จแล้วแต่เปิดใช้งานไม่ได้ เพราะรันเวย์สั้น เครื่องขึ้น-ลง ต้องใช้น่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน

 

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สนามบินเบตงสร้างเสร็จแล้วแต่เปิดใช้งานไม่ได้ เพราะรันเวย์สั้น เครื่องขึ้น-ลง ต้องใช้น่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

 

กรณีการโพสต์และแชร์ข้อมูลที่ระบุว่า สนามบินเบตง อนุมัติการก่อสร้างโดยรัฐบาลยุคพลเอกประยุทธ์ในปี 2558 งบประมาณ 1,900 ล้านบาท สร้างเสร็จมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่เปิดใช้งานไม่ได้เพราะรันเวย์สั้น เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ลงไม่ได้ เวลาเครื่องจะลงต้องตั้งลำเข้าไปในน่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน และสนามบินไม่มีคลังน้ำมันสำหรับเครื่องบินนั้น

 

 

สนามบินเบตง, สนามบิน, ข่าวบิดเบือน, รันเวย์, คลังน้ำมัน, มาเลเซีย

 

 

 

 

โดยกรมท่าอากาศยานได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อนการดำเนินการก่อสร้างกรมท่าอากาศยาน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพและทางเศรษฐศาสตร์

 

จึงได้ข้อสรุปในการก่อสร้างที่วางไว้คือ ทางวิ่ง (Runway) ขนาด 30x1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ซึ่งตามหลักการดำเนินงานท่าอากาศยานจะมีการติดตามตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานต่าง ๆ โดยจะต้องมีระยะของการพัฒนาตามขนาดและความต้องการเดินทางของประชาชน

 

และสำหรับเส้นทางบิน การขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด และขณะนี้ได้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ 1. หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ 2. ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง

 

ในส่วนของประเด็นเรื่องการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานนั้น กรมท่าอากาศยานได้มีการหารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการวางแผนการลงทุนและแนวทางในการให้บริการในอนาคต

 

ซึ่งกรมท่าอากาศยานขอเรียนให้ทราบว่าจากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในความต้องการพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับการเดินทางทางอากาศของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของประชาชนให้ทั่วถึงต่อไป

 

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมท่าอากาศยาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.airports.go.th/ และเพจเฟซบุ๊ก กรมท่าอากาศยาน : Department of Airports’ ตามลิงก์นี้ www.facebook.com/departmentofairportsth หรือโทร 02 287 0320

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยมีรันเวย์ขนาด 30x1,800 เมตร และจะมีการพัฒนาตามความต้องการเดินทางของประชาชน อีกทั้งการขึ้นลงของอากาศยาน อยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : Anti-Fake News Center Thailand , กรมท่าอากาศยาน : Department of Airports 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ