เด่นโซเชียล

"เงินบำนาญชราภาพ" ผู้ประกันตน เตรียมเฮ เสนอ ให้เลือกรับตอน 55 หรือ 60 ปีได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เงินบำนาญชราภาพ" ผู้ประกันตนทั้งหลาย เตรียมเฮได้เลย หลังองค์กรผู้บริโภคเสนอ "ประกันสังคม" เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเงินอายุ 55 หรือ 60 ปีได้ตามที่ต้องการ

 
"เงินบำนาญชราภาพ" 
องค์กรผู้บริโภคเสนอประกันสังคม จ่ายบำนาญชราภาพแบบเดิม เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกอายุในการรับบำนาญ แต่หากจะขยายอายุ อาจเตรียมเกษียณอายุ 60 ปี สำหรับผู้ประกันตนรายใหม่ หรือสอบถามความสมัครใจ สำหรับผู้ประกันตนรายเดิม ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอเปิดรับฟังความเห็นก่อนปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์

 

 

จากกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปฏิรูปประกันสังคมระบบกองทุนชราภาพเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในอนาคต การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง เสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 แต่ยังชะลอการดำเนินการจากสถานการณ์โควิด ส่วนการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำปรับแก้จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไป

 

 

 

 

ด้านเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ให้ความเห็นกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า การที่ประกันสังคมจะยกเลิกการจ่าย "บำนาญชราภาพ" ให้กับผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี แล้วเลื่อนการจ่ายบำนาญชราภาพเมื่ออายุ 60 ปีแทนนั้น สปส. ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกว่าจะรับบำนาญที่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งควรเป็นการตัดสินใจของผู้ประกันตนที่จะเลือกสิทธิของผู้ประกันตนนั้นด้วยตัวเอง

 

 

แต่หากประกันสังคมจะปรับให้จ่ายคืนบำนาญที่อายุ 60 ปี ก็ควรดำเนินการกับผู้ประกันตนใหม่หรืออาจจะดำเนินการอย่างเป็นระบบ สอบถามความสมัครใจในการที่จะเลือกสำหรับผู้ประกันตนรายเดิม ส่วนรายใหม่ก็จัดการปรับแก้กฎหมายให้ชัดเจน ให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ 60 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลดี ทำให้บริษัทเอกชนทั้งหลายอาจจะต้องยืดระยะเวลาการจ้างงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี จากเดิมที่บริษัทเอกชนจะใช้วิธียุติการจ้างเมื่อครบอายุ 55 ปีแล้วให้ลูกจ้างไปรับเงินประกันสังคมแทน แล้วอาจจะทำสัญญาจ้างใหม่อีกรอบซึ่งทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิต่าง ๆ อีกหลายอย่าง

 

 

แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร สปส.ควรจะสอบถามผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบ เพราะ ผู้ประกันควรมีสิทธิเลือกและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ สปส. ควรจะดำเนินการซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วย ก็คือ การขยายเพดานวงเงินสูงสุดของผู้ประกันตนที่สมทบจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท

 

 

 

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมอีกส่วน คือ การปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะ ในปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ เช่น

  • งบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปส. ควรเร่งพัฒนาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์และลดการจ่ายเงินในส่วนบริการสุขภาพหรือยุติการจ่ายเงินในส่วนสุขภาพในที่สุด เพราะ รัฐบาลควรรับผิดชอบผู้ประกันตนเช่นเดียวกับผู้ป่วยในระบบบัตรทองหรือระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนชราภาพเพิ่มขึ้นได้มากกว่าในปัจจุบัน

 

 

ด้านรองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ กล่าวว่า  สปส. ควรเปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกันตน เพราะ การกำหนดหลักเกณฑ์หรือเปลี่ยนเงื่อนไขใด ๆ  ที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนนั้น ควรรับฟังความเห็นก่อนที่จะปรับเปลี่ยน เนื่องจาก ผู้ประกันตนเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ไม่ใช่การที่ สปส.เป็นผู้กำหนดเอง อีกประเด็นที่สังเกต คือ เรื่องนี้ยังไม่เปิดรับฟังความเห็น จึงไม่เห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ "บำนาญชราภาพ" 

 

 

ข้อมูล : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ