
กทม. เผย พร้อมรับมือฝุ่นละออง "PM2.5" เร่งควบคุมมลพิษจริงจัง
ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจจุดติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เผย พร้อมรับมือฝุ่นละออง "PM2.5" เร่งควบคุมมลพิษจริงจัง ทั้งการเผาขยะ และควันดำจากรถยนต์
ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจจุดติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เผย พร้อมรับมือฝุ่นละออง "PM2.5" เร่งควบคุมมลพิษจริงจัง ทั้งการเผาขยะ และควันดำจากรถยนต์
วันนี้ 7 ธ.ค.64 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจจุดติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) โดยมี นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตหนองแขม สำนักงานเขตทวีวัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ณ บริเวณสามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม และบริเวณทางเข้าสนามหลวง 2 ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา
เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ เตรียมความพร้อมและแจ้งเตือนสถานการณ์ รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลตัวเอง หากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่มีปริมาณสูงขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหา PM2.5
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ฝุ่นละออง PM2.5 ครอบคลุมทั้ง 50 เขต รวมทั้งหมด จำนวน 70 จุด ทั้งแบบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 สถานี (ในพื้นที่เขตดินแดง พระโขนง ราษฎร์บูรณะ และราชเทวี) แบบเสาเหล็ก จำนวน 46 จุด เครื่องตรวจวัด PM2.5 ในสวนสาธารณะ จำนวน 20 แห่ง จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชม. ช่วงวันที่ 1 พ.ย. ถึงวันที่ 6 ธ.ค.64 ค่าเฉลี่ยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เท่ากับ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ตรวจวัดได้ระหว่าง 7-54 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีค่าเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 1 เขต คือ เขตหนองแขม
โดยตรวจวัดได้ในช่วง 27-54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 5 มคก./ลบ.ม.) มีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 4 วัน (วันที่ 6, 19, 22 พ.ย. และ 2 ธ.ค.) สาเหตุเกิดจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่กระจายลงมา ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีสภาพอากาศจมตัว อากาศปิด ลมสงบ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นรอยต่อกับปริมณฑลมีรถบรรทุกวิ่งช่วงเวลากลางคืน ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัวและสะสมในปริมาณเพิ่มขึ้น
วางแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ได้แก่ การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การควบคุมมลพิษจากสถานประกอบการ การควบคุมมลพิษจากการก่อสร้าง และการควบคุมมลพิษจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่และรณรงค์เน้นย้ำเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก งดการเผาในที่โล่ง
รวมถึงการควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ เพื่อป้องกันปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือในการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 จากการเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง
ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้างลดฝุ่นลดมลพิษทางอากาศ
นอกจากนี้ สำนักงานเขตได้ประสานขอความร่วมมืองดกิจกรรมก่อสร้างทุกประเภทที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง ตลอดจนเข้มงวดควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะเศษวัสดุ และเผาในที่โล่ง รวมถึงประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยความสะดวกการจราจรให้เกิดความคล่องตัว และห้ามจอดรถในถนนสายหลัก สายรองตลอดเวลา สำนักงานเขตและสำนักสิ่งแวดล้อมเก็บขนมูลฝอยให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. ทุกส่วนราชการงดใช้รถราชการในสังกัดที่ปล่อยมลพิษหรือควันดำเกินมาตรฐาน
รวมถึงล้างและดูดฝุ่นถนน รวมทั้งล้างฝุ่นออกจากใบไม้ เพื่อให้ใบไม้มีพื้นที่สำหรับดักจับฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ สำนักการแพทย์เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักอนามัยออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อคัดกรองภาวะสุขภาพของประชาชน การรักษาและให้ความรู้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5