"โอไมครอน" โควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบครั้งแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายน ในแอฟริกาที่ผ่านมานี้ ปัจจุบันได้แพร่ระบาดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะในฝรั่งเศส, เยอรมนี, เบลเยียม, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ ฯลฯ เรียกได้ว่า ไปแทบจะทุกทวีปทั่วโลก จนเป็นที่น่ากังวลต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก
ล่าสุด หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ หมอมนูญ ออกมาโพสต์บน Facebook โดยระบุว่า เมื่อ 3 เดือนที่แล้วก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์"โอไมครอน"(Omicron)ในประเทศแอฟริกาใต้ นักวิทยาศาสตร์ยังแปลกใจ ทำไมคนผิวดำ 1,300 ล้านคนในทวีปแอฟริกามีอะไรดีหรือ ถึงได้ติดเชื้อไวรัสโควิดน้อย ไม่ติดกันในวงกว้างเหมือนกับคนในทวีปอเมริกา, ยุโรป และเอเชีย ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนน้อยมาก และมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในทวีปแอฟริกาแล้วก็ตาม เหตุผลสำคัญผมสันนิษฐานว่า เนื่องจาก คนผิวดำ มีลักษณะทางพันธุกรรมต่างจากคนผิวขาวและคนเอเซีย ทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์เล่นงานคนต่างเผ่าพันธุ์ไม่เหมือนกัน
ถ้ามองย้อนหลังเมื่อปีที่แล้ว เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ D614G และสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น สายพันธุ์อัลฟาที่เกิดขึ้นในคนผิวขาวในทวีปยุโรป คนไทยและคนในประเทศอาเซียน ติดเชื้อไวรัสน้อย เชื้อนี้ไม่สามารถจะแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในคนเอเชียได้ มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า อาจเป็นเพราะคนเอเชียฉีดวัคซีนบี.ซี.จี.ป้องกันวัณโรคหรือเปล่า ขณะที่คนอเมริกันและคนในยุโรปตะวันตกไม่ฉีด ต้องรอให้สายพันธุ์เดลตาเกิดขึ้นในคนอินเดีย เชื้อสายพันธุ์เดลตาจึงสามารถระบาดได้ทั้งคนผิวขาวและคนเอเชีย แต่คนผิวดำในทวีปแอฟริกาก็ยังพบไม่มาก
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งของยีนมากที่สุด ทำให้เกิดการได้เปรียบกว่าสายพันธุ์เดิม ตั้งชื่อว่าสายพันธุ์ "โอไมครอน"(Omicron)เกิดขึ้นในคนผิวดำประเทศบอตสวานา แล้วแพร่กระจายมาประเทศแอฟริกาใต้ ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ "โอไมครอน" เพิ่มขึ้นแซงหน้าสายพันธ์เดลตาในประเทศแอฟริกาใต้แล้ว ผมเชื่อว่าสายพันธุ์ "โอไมครอน" จากนี้ไป จะสามารถแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในคนผิวดำในทวีปแอฟริกา และจะกระจายต่อไปทั่วโลก เล่นงานครั้งนี้ทุกคน ทั้งคนผิวขาว คนเอเชีย คนผิวดำ เสมอภาคกัน และอาจจะแทนที่สายพันธุ์เดลตาในไม่ช้า
ข้อมูล : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง