คนไทยสร้างขยะคนละ 69.54 กก./ปี เตรียมเลิกใช้ "ขยะพลาสติก" 4 ประเภท 100 % ในปี 65
ปี 65 ไทยประกาศเลิกใช้ "ขยะพลาสติก" 100% นำเข้าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ต่อกว่า 50 % เปิดสถิติไทยสร้างขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ประมาณ 4,796,494 ตัน/ปี หรือประมาณคนละ 69.54 กก.
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 ที่ได้มีการเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแผนลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ โฟม ถุงหิ้ว แก้ว และหลอดพลาสติก แบบเด็ดขาดในปี 2565 พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้พลาสติก เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 % รายละเอียดการลด-เลิกใช้พลาสติกตามแผน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 มีดังนี้
ยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ประเภท แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปี 2565
- ถุงพลาสติกหูหิ้ว แบบบาง ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
- กล่องโฟมบรรจุอาหาร กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม
- แก้วพลาสติกบาง แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน
- หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น
นำพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 50% ในปี 2565 ประกอบด้วย
- ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบหนา
- บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว
- ขวดพลาสติกทุกชนิด
- ฝาขวด
- แก้วพลาสติก
- ถาด และกล่องอาหาร
- ช้อน ส้อม มีดพลาสติก
โดยมีมารตรการดังนี้
1.มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ/ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ รับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง
2.มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ที่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
3.มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมให้ประชาชนลด และคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก และจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามข้อมูลจาก GREENPEACE ซึ่ง องค์กรรณรงค์อิสระระดับโลกที่ลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม ปกป้องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสันติภาพ ระบุว่า วารสาร Science Advance ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกของไทยอยู่ที่ 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน)
สำหรับประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่
1. สหรัฐอเมริกา 42,027,215 ตัน/ปี หรือประมาณ 105.30 กิโลกรัม/คน/ปี
2.สหราชอาณาจักร 6,471,650 ตัน/ปี หรือประมาณ 98.66 กิโลกรม/คน/ปี
3.เกาหลีใต้ 4,514,186 ตัน/ปี หรือประมาณ 88.09 กิโลกรัม/คน/ปี
4.เยอรมันนี 6,683,412 ตัน/ปี หรือประมาณ 81.16 กิโลกรัม /คน/ปี
5.ไทย 4,796,494 ตัน/ปี หรือประมาณ 69.54 กิโลกรัม/คน/ปี
ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย แบ่งตามประเภท
- ถุงทุกประเภท 1.11 ล้านตัน
- ขวดพลาสติก 0.40 ล้านตัน
- แก้ว/กล่อง/ถาดพลาสติก 0.23 ล้านตัน
- จุกฝาพลาสติก 0.05 ล้านตัน
- ช้อนส้อมมีดพลาสติก 0.03 ล้านตัน
- หลอดพลาสติก 0.003 ล้านตัน
- ตาข่าย แห อวน พลาสติก 0.10 ล้านตัน
- รองเท้า 0.009 ล้านตัน
ที่มา: ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ
มูลนิธิ Greenpeach