นางสาวรสนา โตสิตระกูล เป็นนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล SAVE ลมหายใจสถานีรถไฟหัวลำโพง
ดิฉันตกใจที่ทราบว่ารมต.คมนาคมจะสั่งปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงให้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ฟังแล้วคุ้นๆกับยุคที่สั่งปิดสนามบินดอนเมืองโดยอดีตรมต.คมนาคมคนหนึ่งที่มาจากจังหวัดบุรีรัมย์ แต่บ้านเมืองนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในที่สุดดอนเมืองก็กลับมาเป็นสนามบินนานาชาติ หลังจากที่ถูกทิ้งรกร้างและให้จมน้ำในปีน้ำท่วมใหญ่ 2554
สถานีรถไฟหัวลำโพงหรือ สถานีกรุงเทพ เป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการรถไฟแห่งประเทศไทย และของภูมิภาคนี้ ที่ใช้เป็นสถานีเริ่มต้นเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางรถไฟไปทั่วราชอาณาจักรไทยมายาวนานถึง 105 ปี นับแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพิธีเปิด แต่แล้วจู่ๆก็มีรัฐบาลหนึ่งมาสั่งปิดประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอันทรงคุณค่าของสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย เพื่อนำเอาสถานที่แห่งนี้พร้อมทั้งที่ดินกว่า 120 ไร่ไปปู้ยี่ปู้ยำทำเป็นตึกสูงคอนกรีตมิกซ์ยูส นอกจากจะเป็นทัศนะอุจาด(Visual Pollution)ทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังสร้างความแออัดทางจราจรในย่านนั้น
ดิฉันเคยไปเห็นสถานีรถไฟเก่าแก่ในแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมันนีที่เป็นสถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองค์ และเป็นต้นแบบของสถานีรถไฟหัวลำโพงซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำสถาปัตยกรรมมาเป็นแบบก่อสร้างหัวลำโพง คำว่าสถานีรถไฟใหญ่ประจำเมืองออกเสียงว่าเฮ้าส์บานโฮป Hauptbahnhof เสียงช่างพ้องกับคำว่าหัวลำโพง ปัจจุบันสถานีรถไฟต้นแบบหัวลำโพงในเยอรมันนียังเป็นสถานีรถไฟประจำเมืองแฟรงก์เฟิร์ตอยู่เลย ในขณะที่ไทยจะยกเลิกสถานีรถไฟหัวลำโพง น่าเสียดายที่นักบริหารบ้านเมืองไทยสมัยนี้นอกจากไร้วิสัยทัศน์ ไม่เคยเห็นสิ่งเก่าแก่ที่มีคุณค่ามหาศาลเพราะสนใจแต่มูลค่ากันเป็นหลัก ใช่หรือไม่
ใครก็ตามที่คิดจะพัฒนากรุงเทพมหานครในเชิงโครงสร้าง ควรคำนึงถึงพระราชดำริแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า
"แต่ที่เราคิดเป็นการสร้างเมืองเพื่อที่จะเป็นตัวอย่าง และทำให้เมืองเดิมของเราคือกรุงเทพมหานครนี้ เป็นเมืองที่โปร่ง เป็นเมืองที่น่าดู เป็นเมืองประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองสวยงาม"
ดิฉันขอคัดค้านในฐานะชาวกรุงเทพฯตั้งแต่เกิดว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง รัฐมนตรีคมนาคมจะมาถืออำนาจปิดหัวลำโพงโดยไม่ฟังเสียงประชาชนชาวกรุงเทพฯ ว่าจะเห็นด้วยกับนโยบายไร้รสนิยมเช่นนี้หรือไม่ อย่างไร
จึงขอเรียกร้องรัฐบาลโปรดพัฒนามหานครโดยรักษาประวัติศาสตร์อันสวยงามอนุรักษ์สถานีรถไฟหัวลำโพง ให้เป็นสถานีบริการที่ยังมีชีวิต สืบทอดประวัติศาสตร์การรถไฟของชาติสมดังเนื้อร้องในเพลงมาร์ชรถไฟที่ว่า
"รถไฟของชาติรับใช้ประชาราษฎร์ด้วยภักดี" มาอย่างยาวนานสืบไป
รสนา โตสิตระกูล
20 พฤศจิกายน 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง