เด่นโซเชียล

"ลดหย่อนภาษี 2564" ด้วยกองทุน RMF SSF ประกันชีวิต เลือกแบบไหนดี เช็คได้ที่นี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็คที่นี่ "ลดหย่อนภาษี 2564" นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อกองทุน RMF SSF ประกันชีวิต ผลิตภัณฑ์แบบไหนดี ลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน มาหาคำตอบได้เลย

 

"ลดหย่อนภาษี 2564" ล่าสุด ใกล้สิ้นปีแล้วปัญหาใหญ่ของผู้มีรายได้หลายคนหนีไม่พ้นการต้องจ่ายภาษีจำนวนมาก ไม่ใช่ไม่อยากจ่ายภาษี แต่ถ้ามันมีวิธีลดหย่อน ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้ ทำไมจะไม่ทำกันล่ะ วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ ขอเสนออีกหนึ่งแนวทางที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ อาทิ การซื้อ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือแม้แต่การลงทุนในกองทุน RMF , SSF เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนลดหย่อนภาษีในรอบปี 2564 ที่จะถึงนี้

 

 

 

 

กองทุนรวม มีอยู่ 2 ประเภท ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี "ลดหย่อนภาษี 2564" ได้แก่

 

  • กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Savings Fund) กองทุนเพื่อส่งเสริมการออมให้มีระยะยาวขึ้น สามารถซื้อกองทุน SSF เพื่อใช้ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปีปฏิทิน โดยในเบื้องต้นกองทุน SSF จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2563 - 2567 หลังจากนั้นจะถูกประเมินและทบทวนอีกครั้งโดยกระทรวงการคลัง ส่วนเงื่อนไขการลงทุน ปีไหนซื้อปีนั้นได้ลดหย่อน และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อลงทุนครบ 10 ปีปฏิทิน

 

 

 

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund) กองทุนเพื่อส่งเสริมการออม สำหรับเป็นเงินออมที่รองรับชีวิตหลังเกษียณ โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ มีผลตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป สามารถซื้อกองทุน RMF เพื่อใช้สิทธิในการ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน ให้เป็นไปตามที่แต่ละกองทุนกำหนด แต่เงื่อนไขการลงทุนต่อเนื่องทุกปี และเว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน และยังคงเหมือนเดิม ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือครองไม่ต่ำกว่า 5 ปีเต็ม

 

 

 

 

SSF ต่างกับ RMF อย่างไร

SSF (Super Savings Fund)

 

  • ซื้อได้สูงสุด : ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงื่อนไขการหักภาษี : หักภาษีได้ปีต่อปี ตั้งแต่ปี 2563 - 2567
  • ขายได้ตอนไหน : ถือครบ 10 ปี นับแบบวันชนวัน
  • นโยบายการลงทุน : หลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ
  • นโยบายปันผล : มีทั้งแบบปันผลและไม่ปันผล

 

 

RMF (Retirement Mutual Fund)

 

  • ซื้อได้สูงสุด : ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอายุอื่น ๆ*
  • เงื่อนไขการหักภาษี : 2563 เป็นต้นไป
  • ขายได้ตอนไหน : ถึงอายุ 55 ปี และครบ 55 ปี นับแบบวันชนวัน
  • นโยบายการลงทุน : หลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ
  • นโยบายปันผล : ไม่มีปันผล

 

 

* กองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ : กองทุน SSF , กองทุน RMF , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ , กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน , กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ

 

 

แบบไหนควรซื้อ SSF

 

  1. เงินได้ - ค่าลดหย่อนแล้ว > 150,000 บาท
  2. อยากลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน
  3. ต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์
  4. ต้องการให้เงินลงทุนเติบโตในระยะยาว
  5. อยากลงทุนแต่ไม่อยากซื้อ RMF
  6. เป็นคนที่ฐานภาษีสูง ๆ เช่น 20% ขึ้นไป
  7. ต้องการลดหย่อนเพิ่มเติมจากตัวเลือกอื่น ๆ

 

 

แบบไหนไม่ควรซื้อ SSF

 

  1. รู้สึกว่าการลงทุนมันมีความเสี่ยง
  2. อยู่ในภาวะกำลังชักหน้าไม่ถึงหลัง สภาพคล่องหืดขึ้นคอ
  3. มีฐานภาษีไม่สูง
  4. เซียนหุ้นที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูง

 

 

ประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพ 2 ประเภทหลัก ๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี "ลดหย่อนภาษี 2564" ได้แก่

 

  • ประกันชีวิตทั่วไป ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้นั้นต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมา ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท โดยนับรวมเบี้ยประกันภัยในส่วนสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ (ถ้ามี) ได้สูงสุด 25,000 บาท (เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563)

 

 

  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ มอบความคุ้มครองชีวิตและมอบเงินคืนเป็นงวด ๆ หลังจากที่เกษียณไปแล้ว สามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมา ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท หากไม่ได้ซื้อประกันชีวิตทั่วไป สามารถใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท

 

 

ทีนี้ หากจะนำกองทุนหรือประกันชีวิตที่ซื้อ รวมไปถึงกองทุนเพื่อการออมต่าง ๆ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กอช. เป็นต้น ไปหักลดหย่อนภาษี "ลดหย่อนภาษี 2564" นั้น มีเงื่อนไขอยู่ว่า เมื่อนับรวมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จะหักลดหย่อนแล้วจะต้องไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท

 

 

เอกสารสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง

รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

 

  1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  2. รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันชีวิตหรือ หนังสือรับรองการจ่ายเงินเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น

 

 

ยื่นภาษีได้ที่ไหนบ้าง

 

  1. ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่ กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  2. ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th : คลิกที่นี่
  3. ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรเป็นอันดับแรก จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้

 

 

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็น ประกัน หรือ กองทุน อยากให้พิจารณาจากความจำเป็นหรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เช่น

 

  • หากเป็นคนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เสี่ยง หรือเดินทางบ่อย อาจจะเลือกประกันชีวิต ที่อาจจะซื้อเสริมจากประกันที่ทางบริษัทจ่ายให้
  • ส่วนคนที่มีความจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะเลือกเป็นประกันสุขภาพ
  • แต่หากลักษณะการทำงานหรือไลฟ์สไตล์ชอบเก็บออม หรือชอบลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ก็อาจจะเลือกเป็นการซื้อกองทุน

 

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม ควรมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ รัดกุม รวมถึงศึกษารายละเอียดจากคู่มือภาษี หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุนเพื่อทำความเข้าใจรายละเอียด กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างให้ละเอียดก่อน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด

 

 

ข้อมูล : กรมสรรพากร

 

 

 

logoline