
"Kangaroo Court" คืออะไร ทำไมถึงใช้แทนหน้าเว็บ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำตอบให้แล้ว
"Kangaroo Court" กลายเป็นกระแสบนโซเชียลจนติดเทรนด์อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย จากกรณีเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูณถูกแฮกและเปลี่ยนชื่อเป็น "Kangaroo Court" ซึ่งหลายคนคงจะงงกันใหญ่ว่าแปลว่าอะไร ใช่ศาลจิงโจ้หรือเปล่า แล้วเกี่ยวอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญกันแน่
"Kangaroo Court" กลายเป็นประเด็น Talk of the town เมื่อวาน หลังจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกแฮกเกอร์มือดี แฮกเว็บไซต์ แล้วเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น "Kangaroo Court" พร้อมฝังเพลง Guillotine (It gose Yah) ของ Death Grips
- แล้ว "Kangaroo Court" จริง ๆ แล้วมีความหมายอะไร ?
"Kangaroo Court" คือ ศาลที่ละเลยหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงของหลักกฎหมายและความยุติธรรม หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศาลเตี้ยหรือตุลาการกำมะลอ
- "Kangaroo Court" มีที่มาจากอะไร เกี่ยวกับจิงโจ้หรือเปล่า?
อย่างที่รู้กันแล้วว่า "Kangaroo Court" ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวกับจิงโจ้แต่อย่างใด แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับออสเตรเลียด้วยเช่นกัน แต่จริง ๆ แล้วคำนี้เริ่มใช้ครั้งแรกในการขุดทองที่แคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1853 โดยตอนนั้นเรียกว่า Mustang Court หรือ ศาลม้าเถื่อน เนื่องจาก เป็นการตัดสินกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็วเหมือนม้าเถื่อนกระโดด ซึ่งต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นการกระโดดของจิงโจ้แทน จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า "Kangaroo Court" นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ แฮกเกอร์จึงใช้ "Kangaroo Court" แสดงบนหน้าเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าอาจจะเกิดจากความไม่พอใจ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีของนายอานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณุพงศ์ และรุ้ง ปนัสยา ว่าข้อเรียกร้องของม็อบไม่ใช่การปฏิรูปสถาบัน แต่เป็นการล้มล้างการปกครอง