เด่นโซเชียล

"หมอธีระ" เผยงานวิจัย ระดับภูมิคุ้มกัน Pfizer - AstraZeneca กับโอกาสติดเชื้อ

"หมอธีระ" เผยงานวิจัย ระดับภูมิคุ้มกัน Pfizer - AstraZeneca กับโอกาสติดเชื้อ

12 พ.ย. 2564

"หมอธีระ" เผยงานวิจัย คนที่มีระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ต่อโปรตีนส่วนหนามของไวรัส ตั้งแต่ 500 U/ml ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยกว่าคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่า 500 U/ml ราว 40% พร้อมเทียบให้ดูชัด ๆ ระหว่าง Pfizer กับ AstraZeneca

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ศ.นพ. "ธีระ วรธนารัตน์" หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงสถานการณ์ "โควิด-19" ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเชื้อเพิ่ม 481,138 คน ตายเพิ่ม 6,340 คน รวมแล้วติดไปรวม 252,603,965 คน เสียชีวิตรวม 5,094,691 คน 

 

 

"หมอธีระ" เผยต่อว่า 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย อเมริกา และตุรกี ส่วนจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.61 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.33 

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้น มากถึง 68.25% ของทั้งโลก พอ ๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็น 61.68% ทั้งสองตัวชี้วัดนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก 

 

สำหรับสถานการณ์ "โควิด-19" ของไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 7,496 คน สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก หากรวม ATK อีก 3,152 คน จะขยับเป็นอันดับ 14 ของโลก และยอดที่รวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง 

 

เยอรมันเป็นอย่างไร? 

 

ตอนนี้ติดเชื้อใหม่สูงขึ้นทะลุกว่า 50,000 คน ที่น่ากลัวคือสูงกว่าปลายปีที่แล้วถึง 2 เท่า คงต้องเอาใจช่วยให้ควบคุมได้โดยเร็ว 

 

เดนมาร์กและชิลีเป็นอย่างไร? 

 

ล่าสุดเดนมาร์กหลังเปิดเสรีตั้งแต่ต้นกันยายน ยอดติดเชื้อเพิ่มวันที่ 10 พฤศจิกายนมีสูงถึง 3,017 คน มากกว่ากลางกันยายนถึง 10 เท่า ส่วน ชิลี หลังจากเพิ่มมาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัวเลขยังทรงตัวอยู่ระดับกว่า 2,000 คนต่อวัน 

 

\"หมอธีระ\" เผยงานวิจัย ระดับภูมิคุ้มกัน Pfizer - AstraZeneca กับโอกาสติดเชื้อ

 

 

"หมอธีระ" ยังได้เผยถึงงานวิจัย ระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีน Pfizer/Biontech "ไฟเซอร์" กับ AstraZeneca "แอสตร้าเซนเนก้า" กับโอกาสติดเชื้อ ว่า 

 

Aldridge RW และทีมจาก University College of London ได้เผยแพร่งานวิจัยที่น่าสนใจมากใน medRxiv วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

สาระสำคัญคือ คนที่มีระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ต่อโปรตีนส่วนหนามของไวรัส (Anti-S) ตั้งแต่ 500 U/ml ขึ้นไป (ตรวจโดยใช้ชุดตรวจของ Roche) จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยกว่าคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่า 500 U/ml ราว 40% 

 

ทั้งนี้พบว่า คนที่ฉีดวัคซีน Pfizer/Biontech (BNT162b2) ทั้งสองเข็มนั้นจะมีระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้สูงกว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca (ChAdOx1) โดยระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป 

 

ทั้งนี้ กลุ่มที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca (ChAdOx1) จะลดลงต่ำกว่า 500 U/ml ในเวลา 96 วัน (3 เดือน) ส่วนกลุ่มที่ฉีด Pfizer/Biontech (BNT162b2) จะใช้เวลา 257 วัน (8 เดือน) 

 

นี่เป็นงานวิจัยที่อาจมีประโยชน์ในการนำไปพิจารณาช่วงเวลาที่จะต้อง "ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น" สำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

 

อย่างไรก็ตาม ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นมีทั้งในน้ำเลือดคือแอนติบอดี้ และระดับเซลล์ ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยที่ทำการประเมินครบถ้วนทุกอย่างเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์กับระดับการป้องกันโรค แต่เชื่อว่าความรู้จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ ติดตามกันไป 

 

"ใส่หน้ากากอนามัยนะครับ สำคัญมาก อยู่ห่างจากคนอื่นเกิน 1 เมตร จะลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า" 

 

\"หมอธีระ\" เผยงานวิจัย ระดับภูมิคุ้มกัน Pfizer - AstraZeneca กับโอกาสติดเชื้อ

 

\"หมอธีระ\" เผยงานวิจัย ระดับภูมิคุ้มกัน Pfizer - AstraZeneca กับโอกาสติดเชื้อ

 

\"หมอธีระ\" เผยงานวิจัย ระดับภูมิคุ้มกัน Pfizer - AstraZeneca กับโอกาสติดเชื้อ

 

อ้างอิง : Aldridge RW et al. Waning of SARS-CoV-2 antibodies targeting the Spike protein in individuals post second dose of ChAdOx1 and BNT162b2 COVID-19 vaccines and risk of breakthrough infections: analysis of the Virus Watch community cohort. medRxiv. 5 November 2021.