เด่นโซเชียล

หิ้ววัคซีน "จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" ฉีดเองเสี่ยงด้อยประสิทธิภาพ

หิ้ววัคซีน "จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" ฉีดเองเสี่ยงด้อยประสิทธิภาพ

09 พ.ย. 2564

แอบหิ้ววัคซีน "จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" จากประเทศเพื่อนบ้านมาฉีดเอง เสี่ยงไม่ได้มาตรฐาน จัดเก็บผิดวิธี ด้อยประสิทธิภาพ เผย เพื่อนบ้านประเทศไหนมี จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บ้างตอนนี้

อัปเดตล่าสุด กรณีการแชร์ข้อมูลผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด  จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)  ที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว โดยสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วมีการคาดการณ์ว่า วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่มีคนไทยนำมาให้คลีนิกฉีดให้นั้น อาจจะมีการนำเอาวัคซีนมาจากประเทศกัมพูชา เนื่องจากการฉีดวัคซีนล่าสุดของประเทศเพื่อนบ้านนั้น พบว่า ประเทศกัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับบริจาควัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จากประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 ล้านโดส โดยเป็นการบริจาคผ่านโครงการ Covax รวมไปถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็ได้รับการบริจาควัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จากสหรัฐอมเริกา ประมาณ 1 ล้านโดสเช่นกัน ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่า วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่นำเข้ามาฉีดนั้น อาจจะมีการแอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทางสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดู จำนวน และยี่ห้อของวัคซีนที่ประเทศกัมพูชาได้รับการจัดสรรจากการเข้าร่วมโครงการ Covax นั้น จะพบว่าที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชาได้รับวัคซีนโควิด-19 หลากหลายยี่ห้อ โดยในช่วงแรกที่โครงการ Covax เริ่มกระจายวัคซีนให้แก่ประเทศภูมิภาคอาเซียนนั้น กัมพูชาได้รับการจัดสรรวัคซีนประมาณ 324,000 โดส ในจำนวนดังกล่าว เป็นการได้รับวัคซีนที่หลากหลายยี่ห้อ โควิชิลด์ (Covishield) แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และไฟเซอร์ (Pfizer) 

 

นอกจากนี้ จากกรณีที่กัมพูชาเข้าร่วมโครงการ Covax ยังทำให้กัมพูชาได้รับวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่บริจาคโดยสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 ล้านโดส โดยการบริจาคดังกล่าว เป็นการบริจาคผ่านโครงการ Covax  เช่นกัน 
จากการเข้าร่วมโครงการ Covax ของกัมพูชา ส่งผลให้กัมพูชามีวัคซีนทางเลือกที่หลากหลายยี่ห้อมากขึ้น 


 

สำหรับกรณีที่มีการแอบนำ วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เข้ามาให้คลินิกฉีดให้นั้น อาจจะสร้างความสังสัยว่า วิธีการเก็บรักษาวัคซีนให้คงประสิทธิภาพนั้นจะเป็นอย่างไร และกว่าจะนำมาฉีดกระบวนเก็บรักษาต่าง ๆ จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงหรือไม่นั้น 

 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า วัคซีนที่จะฉีดได้ จะต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมไปถึงวัคซีนต้องมีกลไกในการบริหารจัดการ โดยสถานพยาบาลเป็นเจ้าของวัคซีนนั้น เพราะจะมีเรื่องความลอดภัยในการจัดเก็บวัคซีน ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อคงสภาพ และประสิทธิภาพเอาไว้