มาพร้อมฝน "โรคเมลิออยด์" หมอเตือนพบป่วยเกือบ 2 พัน แนะ 5 วิธีป้องกันก่อนรักษา
หมอเตือนระวังป่วย "โรคเมลิออยด์" ชี้พบมากช่วงฤดูฝน ปีนี้พบผู้ป่วยเกือบ 2 พันคน เสียชีวิตแล้ว 3 เผยเชื้อเข้าทางบาดแผล - หายใจและกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป แนะเกษตรกรใส่รองเท้าบูทป้องกัน หลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำย่ำโคลน
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 "กรมควบคุมโรค" กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ระวังป่วย "โรคเมลิออยด์" ซึ่งพบมากในช่วง "ฤดูฝน" เชื้อสามารถเข้าทางบาดแผล หรือการหายใจ และกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เกษตรกรหรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง จะมีความเสี่ยงป่วย "โรคเมลิออยด์"
โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและในน้ำ จะเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลที่ผิวหนัง การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป รวมถึงการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน
"อาการของโรคเมลิออยด์" ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
สถานการณ์ "โรคเมลิออยด์" ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ป่วย 1,955 ราย เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 55-64 ปี รองลงมาอายุ 45-54 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี
ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยโรคเมลิออยด์สูงสุด คือ มุกดาหาร อํานาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร และศรีสะเกษ ตามลำดับ
สำหรับวิธีการป้องกัน "โรคเมลิออยด์" สามารถทำได้ดังนี้
- ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่
- หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท
- ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุกทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางลมฝุ่นและสายฝน
- ลดละเลิกการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422