เด่นโซเชียล

"หมอธีระ" แนะ 7 แนวปฏิบัติ ควรทำเวลากินดื่มใน ร้านอาหาร ป้องกันติดเชื้อโควิด

"หมอธีระ" แนะ 7 แนวปฏิบัติ ควรทำเวลากินดื่มใน ร้านอาหาร ป้องกันติดเชื้อโควิด

02 พ.ย. 2564

"หมอธีระ" แนะ 7 แนวทางปฏิบัติที่ควรทำเวลาไปกินดื่มใน ร้านอาหาร เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์ที่ยังคงระบาดรุนแรงต่อเนื่อง

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 "หมอธีระ" ศ.นพ. ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงสถานการณ์ "โควิดวันนี้" เผย 7 แนวทางปฏิบัติที่ควรทำเวลาไปกินดื่มใน ร้านอาหาร 

 

 

โดย "หมอธีระ" ระบุว่า สถานการณ์ "โควิดวันนี้" 2 พฤศจิกายน 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 324,207 คน ตายเพิ่ม 4,611 คน รวมแล้วติดไปรวม 247,805,440 คน เสียชีวิตรวม 5,019,852 คน 

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย สหราชอาณาจักร อเมริกา ตุรกี และยูเครน

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.54 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.23 

 

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 8,165 คน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก หากรวม ATK อีก 2,450 คน จะขยับเป็นอันดับ 8 ของโลก และไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง 

 

 

"หมอธีระ" ระบุต่อว่า 7 แนวทางปฏิบัติที่ควรทำเวลาไปกินดื่มใน ร้านอาหาร มีดังนี้ 


1. เลือกร้านที่จะไปในบริเวณนั้นสัก 2-3 ร้าน 

 

2. ถึงร้านแล้ว ประเมินดูว่าแออัดไหม ถ่ายเทอากาศดีไหม การรักษาความสะอาดโอเคไหม พนักงานป้องกันตัวดีไหม
หากไม่ดี ไม่ควรเสี่ยง เปลี่ยนร้านเถอะ 

 

3. พกสเปรย์แอลกอฮอล์ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ ก่อนและหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะ เช่น เก้าอี้ เมนู ฯลฯ 

 

4. ให้พนักงานรับออเดอร์ห่างจากเรา 1 เมตร หากเข้ามาใกล้เกินไป ควรแนะนำพนักงานอย่างสุภาพ เพื่อความปลอดภัยทั้งเขาและเรา ระหว่างการสั่งอาหาร ทั้งพนักงานและเราควรใส่หน้ากากทั้งคู่ 

 

5. ระหว่างรออาหาร หากไม่ได้กินดื่ม ควรใส่หน้ากากอนามัย  

 

6. หากกินดื่มเสร็จ ระหว่างรอจานอื่น ควรล้างมือและใส่หน้ากากอนามัย 

 

7. ช่วงคิดเงิน อย่าลืมล้างมือหลังหยิบจับธนบัตร เหรียญ หรือปากกา 

 

สถานการณ์ "โควิดวันนี้" ระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง ควรไปเท่าที่จำเป็น การซื้อกลับไปแยกกินเอง ย่อมปลอดภัยกว่า คำแนะนำดังกล่าวไม่ใช่คำแนะนำแบบโลกสวย หรือสุดโต่งจนปฏิบัติไม่ได้ เพราะที่แนะนำข้างต้นนั้น ตนเองก็ปฏิบัติอยู่เช่นกัน 

 

ย้ำอีกครั้งว่า ความเสี่ยงในสังคมจะสูงขึ้นมาก ถัดจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับความใส่ใจสุขภาพของแต่ละคน (Health consciousness) ด้วยรักและห่วงใย 

 

ที่มา Thira Woratanarat