เด่นโซเชียล

ไฟเขียว ออก "วัคซีนพาสปอร์ต" แบบดิจิทัล พ.ย.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศปรับปรุงการออก "วัคซีนพาสปอร์ต" เพิ่มรูปแบบเอกสารดิจิทัล อัตรา 50 บาทต่อครั้ง คาดดำเนินการได้ภายใน พ.ย. 64

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศปรับปรุงการออกหนังสือรับรองการ "วัคซีนพาสปอร์ต" เพิ่มรูปแบบเอกสารดิจิทัล อัตรา 50 บาทต่อครั้ง คาดดำเนินการได้ภายใน พ.ย. 64

 

 

วันนี้ 28 ตุลาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2564 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์ 

นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณผู้ติดเชื้อลดลง และนครศรีธรรมราช ตาก จันทบุรี ระยอง ซึ่งแนวโน้มยังทรงตัว ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ฉีดสะสมมากกว่า 72 ล้านโดส

 

โดยเข็มแรกครอบคลุมร้อยละ 56.5 ของประชากร เข็ม 2 ร้อยละ 40.4 และเข็ม 3 ร้อยละ 3.1 สำหรับเดือนพฤศจิกายนนี้ มีแผนจัดหาวัคซีนเพื่อรองรับการเปิดประเทศและการเปิดเรียนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้วมากกว่า 7.6 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 85.3 และนักเรียนมากกว่า 2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 57.6

 

 

โดยจะส่งมอบวัคซีนอีก 23 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 13 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย คือ จังหวัดและพื้นที่แซนด์บ็อกซ์นำร่อง ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 70 ของประชากร, เพิ่มความครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง 608, ฉีดเข็มกระตุ้นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม และฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้กลุ่มนักเรียนอายุ 12-18 ปี 

นายอนุทินกล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญได้แก่

 

1.เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พ.ศ. ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขจากประกาศเดิมที่กำหนดรูปแบบเป็นเอกสารเล่ม โดยฉบับนี้จะเพิ่มในส่วนของวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองในอัตรา 50 บาทต่อเล่มหรือต่อครั้ง มีผลบังคับใช้วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

 

ส่วนการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนนั้น ขณะนี้มีหน่วยงานให้บริการออกหนังสือรับรอง 102 แห่ง ได้แก่ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค , สถาบันบำราศนราดูร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กทม. สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 7 แห่ง (เชียงใหม่ สระบุรี ราชบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี และสงขลา) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวม 92 แห่ง มีผู้รับบริการแล้วกว่า 4 หมื่นคน โดยภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะเริ่มให้บริการหนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) ในบางสถานที่นำร่องก่อนขยายทั่วประเทศต่อไป 

 

 

2.เห็นชอบกรอบการดำเนินงานรองรับการเปิดประเทศและการระบาดของโรคโควิด 19 ปี พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันควบคุมโรค สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดประเทศและการระบาดของโรคโควิด 19 ปี พ.ศ. 2565 และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสาน สนับสนุน และติดตามการดำเนินงานตามแนวทาง  3.เห็นชอบผลการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เรื่องแนวทางปฏิบัติในการกักตัวสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกรณีผู้เดินทางโดยเครื่องบิน จากผู้ที่นั่งใกล้ชิด 2 แถวหน้าหลังและแถวเดียวกับผู้ติดเชื้อ ไม่สวมหน้ากากนานกว่า 5 นาที เป็นผู้ที่นั่งติดกับผู้ติดเชื้อซ้ายขวา ไม่สวมหน้ากากนานกว่า 5 นาที และลดเวลากักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 ครบโดส จาก 14 วัน เป็น 10 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำจะใช้วิธีการติดตาม ซึ่งจะเสนอ ศบค.ต่อไป 

 

และ 4.รับทราบแผนการเปิดประเทศและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยจะเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 45 ประเทศ 1 เขตบริหารพิเศษ ในพื้นที่นำร่อง (สีฟ้า) 17 จังหวัด แบบไม่ต้องกักตัว โดยต้องรับวัคซีนครบโดส ลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีเอกสารยืนยันการชำระค่าที่พักอย่างน้อย 1 วัน และมีประกันภัยวงเงินไม่น้อยกว่า 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย) โดยเดินทางไปยังโรงแรมหรือที่พักโดยยานพาหนะที่จัดไว้แบบระบบปิด (Sealed Root) ไม่มีการหยุดพักภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง รอผล 1 คืน หากไม่พบเชื้อสามารถเดินทางในประเทศได้ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด และทางโรงแรมจะมอบชุดตรวจ ATK ไว้สำหรับตรวจหาเชื้อด้วยตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรืออาการของโรคระบบทางเดินหายใจ

 

 

 

โดยบันทึกผลตรวจในแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนกลุ่มเข้าแซนด์บ็อกซ์หลักเกณฑ์เหมือนกัน แต่เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ 7 วันถึงเดินทางต่อได้  นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังรับทราบการเฝ้าระวังสายพันธุ์เดลตาพลัส และแผนการจัดการยาโมลนูพิราเวียร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ