"คนละครึ่งเฟส 3" ประชาชนเทใจ สุดยอดโครงการรัฐ เงินเข้ากระเป๋าตรงที่สุด
สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ ประชาชนเทใจ "คนละครึ่งเฟส 3" โครงการเยียวยาโควิด-19 ของรัฐ ตอบโจทย์ที่สุด อนาคตขอ ควบคุมราคาสินค้า
(24 ต.ค.2564) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อกรณี มาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,309 คน สำรวจระหว่างวันที่ 18-21 ตุลาคม 2564 สรุปผลได้ดังนี้
1.ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ประชาชนได้เข้าร่วมมาตรการใดของรัฐ
- อันดับ 1 มาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ร้อยละ 78.61
- อันดับ 2 มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ร้อยละ 34.76
- อันดับ 3 มาตรการช่วยผู้ปกครอง 2,000 บาท ร้อยละ 29.79
- อันดับ 4 มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33/39/40 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ร้อยละ 25.83
- อันดับ 5 มาตรการลดค่าเทอมนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 22.46
2. ประชาชนคิดว่ามาตรการ/โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ช่วยลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
- อันดับ 1 ช่วยได้บ้าง 62.10%
- อันดับ 2 ช่วยได้มาก 31.39%
- อันดับ 3 ไม่ช่วยเลย 6.51%
3. เปรียบเทียบก่อนกับหลังมีมาตรการ/โครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ การใช้จ่ายของประชาชนต่อเดือนเป็นอย่างไร
- อันดับ 1 ใช้จ่ายเท่าเดิม 43.45%
- อันดับ 2 ใช้จ่ายลดลง 36.70%
- อันดับ 3 ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 19.85%
4. โดยภาพรวมประชาชนพึงพอใจมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมากน้อยเพียงใด
- อันดับ1 ค่อนข้างพึงพอใจ 49.81%
- อันดับ 2 พึงพอใจมาก 22.84%
- อันดับ 3 ไม่ค่อยพึงพอใจ 18.77%
- อันดับ 4 เฉย ๆ 8.58%
5. "5 อันดับมาตรการ/โครงการ" ของภาครัฐที่ประชาชนพึงพอใจ
- อันดับ 1 มาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ร้อยละ 78.66
- อันดับ 2 มาตรการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ร้อยละ 76.70
- อันดับ 3 มาตรการช่วยผู้ปกครอง 2,000 บาท ร้อยละ 74.85
- อันดับ 4 มาตรการลดค่าเทอมนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 73.73
- อันดับ 5 มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ม.33/ม.39/ม.40 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ร้อยละ 71.74
6. นอกจากมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว ประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรมีมาตรการเร่งด่วนใดอีกบ้าง
- อันดับ 1 ควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพ ร้อยละ 75.25
- อันดับ 2 ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ร้อยละ 70.61
- อันดับ 3 หาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 58.16
- อันดับ 4 จ่ายเงินเยียวยาทุกครัวเรือนอย่างเท่าเทียม ร้อยละ 54.52
- อันดับ 5 พักชำระหนี้ ร้อยละ 51.20
จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า ประชาชนเทใจให้มาตรการ "คนละครึ่ง" เพราะอย่างน้อยก็เป็นเงินที่เข้ากระเป๋าโดยตรง เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการอื่น ๆ ถึงจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมากนัก แต่ก็ช่วยประคับประคองให้มีระดับการบริโภคเท่าเดิม เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนต้องวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจึงนับว่าเป็นการเยียวยาประชาชนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ได้อยู่บ้าง
ทั้งนี้ จากข้อมูลมีจำนวนประชาชนเข้าร่วมโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 27.86 ล้านคน จากสิทธิที่เข้าร่วมได้ 28 ล้านสิทธิ คิดเป็น 99.5% ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับที่ดี เนื่องจากประชาชนสามารถนำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐาน คือ ปัจจัย 4 ประกอบด้วย อาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ เมื่อดำเนินการวิเคราะห์การเปรียบเทียบก่อนและหลังที่มีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ยังคงพบว่า ประชาชนก็ยังใช้จ่าย รายเดือนเท่าเดิม สาเหตุมาจากการที่ประชาชนยังคงเกิดความกังวลกับภาวะโรคระบาดโควิด-19 ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทำให้ต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ เมื่อพิจารณาภาพรวมประชาชนค่อนข้างพึงพอใจมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และมาตรการที่อยากให้ทำอย่างเร่งด่วน คือการควบคุมราคาสินค้า และค่าครองชีพ เนื่องจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ประชาชนต้องใช้เงินในการซื้อสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น