เด่นโซเชียล

ย้อนรอยที่มา "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ก่อนปิดฉากสยบความไม่เท่าเทียม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่มีมาอย่างยาวนาน และสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอดคือ "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ก่อนปิดฉากดราม่า สยบความไม่เท่าเทียม

หากพูดถึง หนึ่งในกิจกรรมกีฬาที่ได้รับความสนใจจากคนไทยมากที่สุดงานหนึ่ง​ น่าจะเป็น งานฟุตบอล​ประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ กับ​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ ซึ่งเริ่มจัดขึ้นครั้งแรก วันที่ 4 ธันวาคม 2477​ โดยทั้ง​ 2​ มหาวิทยาลัย จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพสลับกันไปในแต่ละปี​ รวมทั้ง สิ่งที่มีคู่กับงานฟุตบอลประเพณีตลอดมา ก็คือ "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ซึ่งจะเป็นผู้อัญเชิญสัญลักษณ์สูงสุดของมหาวิทยาลัย


แต่ทว่า เมื่อวันที่ 23​ ต.ค.​ 2564​ คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมคัดเลือก "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์​ เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ล้าหลัง อันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ จึงมีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรม การคัดเลือก "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติ ที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม มิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป "คมชัดลึกออนไลน์" จึงจะพาไปย้อนรอย และทำความรู้จักกับประเพณี "การอัญเชิญพระเกี้ยว" ที่กลายมาเป็นดราม่า จนถึงปัจจุบัน

 

ย้อนรอยที่มา "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ก่อนปิดฉากสยบความไม่เท่าเทียม
 

สำหรับประวัติ "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ข้อมูลจากเว็บไซต์หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การอัญเชิญพระเกี้ยวที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ในสมัยก่อน จำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยว มีตั้งแต่เป็นนิสิตผู้หญิงคนเดียว นิสิต 2 คน นิสิตหญิง-ชาย 2 คู่ มาจนถึงในปัจจุบัน ที่เป็นนิสิตหญิง-ชาย เพียงคู่เดียว บางปีคัดเลือกจากตัวแทนของคณะ ในบางปีมีการคัดเลือกจาก "นางนพมาศ" ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "ดาวจุฬาฯ"


การคัดเลือกผู้อัญเชิญนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่จะเป็นเครื่องยืนยันเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ และคุณสมบัติโดยละเอียด แต่ที่แน่ ๆ คือ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแห่งความเป็นจุฬาฯ อยู่ในตัวเอง ผู้ทำงานทุกคนคิดว่า นอกจากการรักษาประเพณีที่เคยมีมาแต่เดิมแล้ว การอัญเชิญพระเกี้ยวที่ถือว่าเป็นของสูง คือเป็นตราประจำพระองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ควรมีผู้อัญเชิญออกมา มากกว่าที่จะให้ออกมา โดยไม่มีใครอัญเชิญ และได้มีการกำหนดหลักการ และเหตุผลเกี่ยวกับผู้อัญเชิญพระเกี้ยวไว้ดังนี้

 

ย้อนรอยที่มา "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ก่อนปิดฉากสยบความไม่เท่าเทียม

"ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ ที่จะอัญเชิญสัญลักษณ์สูงสุดของมหาวิทยาลัย ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ดังนั้น จึงควรมีความเป็นนิสิตจุฬาฯ อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือควรจะเป็นผู้มีความพร้อมในแง่วิชาการและบุคลิกภาพ เพราะนอกจากหน้าที่ในการอัญเชิญพระเกี้ยวในวันงานแล้วยังต้องเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ที่จะประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณี และแสดงถึงภาพลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ ที่ดีสู่สังคม"

                
จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเปลี่ยนมาเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เพื่อให้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ อย่างแท้จริง เนื่องจากนิสิตจุฬาฯ ประกอบด้วยนิสิตหญิงและนิสิตชาย และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เพื่อเปลี่ยนมุมมองของบุคคลภายนอก ที่มักจะคิดว่า ผู้หญิงเชิญพระเกี้ยวเป็นผู้ที่ "สวย" ที่สุดของจุฬาฯ เท่านั้น แต่ที่แท้จริงแล้ว ผู้อัญเชิญฯ ต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นจุฬาฯ มากที่สุด

 

ตามมติที่ประชุมฝ่ายขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานกิจการนิสต (ที่ประชุมอาจารย์) ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้

 

  1. เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 เพศชาย 1 คน เพศหญิง 1 คน
  2. เกรดเฉลี่ยสะสม 2.5 ขึ้นไป
  3. มีบุคลิกภาพดี
  4. เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งของคณะและของมหาวิทยาลัย
  5. มีความประพฤติดีสมกับเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ

 

จากนั้น ก็ถึงขบวนการที่สำคัญที่สุด คือการสัมภาษณ์ โดยคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด ประกอบด้วย

 

  1. คณาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิต
  2. หัวหน้านิสิตทั้ง 16 คณะ
  3. ตัวแทนนิสิตจากส่วนกลาง (ทีมงานฟุตบอลประเพณีฯ)

 

คำถามส่วนใหญ่ จะวัดปฏิภาณ ไหวพริบของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็จะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว

 

การคัดเลือกเป็น "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่เป็นประจำทุกปี ถือว่าเข้มข้นมาก เพราะจะต้องผ่านทั้ง 5 กิจกรรมในการคัดเลือก ดังนี้

 

  1. กิจกรรมแรกพบ
  2. กิจกรรมสอบข้อเขียน
  3. กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์
  4. กิจกรรมสัมภาษณ์กลุ่ม
  5. กิจกรรมสัมภาษณ์เดี่ยว

 

ย้อนรอยที่มา "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ก่อนปิดฉากสยบความไม่เท่าเทียม

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว อาทิ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทรงเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 62

 

นอกจากนี้ ยังมีหลายคนที่เป็นคนดังในแวดวงต่าง ๆ อาทิ จิระนันท์ พิตรปรีชา จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 32, แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 55, แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 66, ฟาง-ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 68

 

ย้อนรอยที่มา "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ก่อนปิดฉากสยบความไม่เท่าเทียม

ย้อนรอยที่มา "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" ก่อนปิดฉากสยบความไม่เท่าเทียม

 

แต่สุดท้ายแล้ว ดราม่าในรั้วจามจุรี ถูกจุดประเด็นมาจากการคัดเลือก "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" มีความไม่โปร่งใส​ แม้ว่าจะมี​ 5​ กิจกรรมให้เข้าร่วมเพื่อประเมิน แต่หากการคัดเลือกตัวแทนในงานฟุตบอลประเพณี ยังคงสร้างปัญหาที่เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม​ การไม่ต้องมี "ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว" จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

 

ที่มา : หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

logoline