เด่นโซเชียล

ประเทศไทยพบฝุ่น "PM2.5" กลับมาสูงอีกเชียงใหม่แชมป์ที่ 1 ค่าฝุ่นพิษสูงสุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก "PM2.5" กลับมาแล้วพบหลายจังหวัดค่าฝุ่นพุ่งสูงเชียงใหม่ตรวจพบฝุ่นพิษมากที่สุด ด้านกรุงเทพฯเกินค่ามาตราฐาน 5 เขต

กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน "PM 2.5" ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร  ประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 

ภาพรวมตรวจวัดได้ 17-49 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)  ทั้งนี้ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร : ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดี
 

สำหรับปริมาณฝุ่น PM2.5 จากการรายงานของกองจัดการคุณภาพอาการและเสียง กรมควบคุมมลพิษ พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากที่สุด ดังนี้ 

อันดับ 1. เชียงดาว จ.เชียงใหม่  222  ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร 
อันดับ 2.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี 153 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
อันดับ 3.สัตหีบ ชลบุรี 149  ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
อันดับ 4.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ 137 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
อันดับ 5.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 134 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร 
อันดับ 6.วังทองหลาง กรุงเทพฯ 112  ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
อันดับ 7.บางบอน กรุงเทพฯ 97 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
อันดับ 8.บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 97 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร 
อันดับ 9.ลาดกระบัง กรุงเทพฯ 97 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร 
อันดับ 10 ภาษีเจริญ กรุงเทพ ฯ 95 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร   

ประเทศไทยพบฝุ่น "PM2.5" กลับมาสูงอีกเชียงใหม่แชมป์ที่ 1 ค่าฝุ่นพิษสูงสุด

 

ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) เป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่

  • ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด
  • ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาในที่โล่ง กระบวนการอุตสาหกรรม การบด การโม่ หรือการทําให้เป็นผงจากการก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากเมื่อหายใจเข้าไปสามารถเข้าไปสะสมในระบบทางเดินหายใจ
  • ก๊าซโอโซน (O3) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีหรือมีสีฟ้าอ่อน มีกลิ่นฉุน ละลายน้ำได้เล็กน้อย เกิดขึ้นได้ทั้งในระดับบรรยากาศชั้นที่สูงจากผิวโลก และระดับชั้นบรรยากาศผิวโลกที่ใกล้พื้นดิน ก๊าซโอโซนที่เป็นสารมลพิษทางอากาศคือก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศผิวโลก เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยก่อให้เกิดการระคายเคืองตาและระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุต่างๆ ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยเร็ว โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
  • ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี กลิ่น และรส เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ ก๊าซนี้สามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้โดยจะไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจนประมาณ 200-250 เท่า เมื่อหายใจเข้าไปทำให้ก๊าซชนิดนี้จะไปแย่งจับกับฮีโมโกลบินในเลือด เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (CoHb) ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย และหัวใจทำงานหนักขึ้น
  • ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น ละลายน้ำได้เล็กน้อย มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ อุตสาหกรรมบางชนิด เป็นต้น ก๊าซนี้มีผลต่อระบบการมองเห็นและผู้ที่มีอาการหอบหืดหรือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
  • ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี หรืออาจมีสีเหลืองอ่อนๆ มีรสและกลิ่นที่ระดับความเข้มข้นสูง เกิดจากธรรมชาติและการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน (ซัลเฟอร์) เป็นส่วนประกอบ สามารถละลายน้ำได้ดี สามารถรวมตัวกับสารมลพิษอื่นแล้วก่อตัวเป็นอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กได้ ก๊าซนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้้
logoline