บอร์ด สปสช. อนุมัติคำของบ "พ.ร.ก.กู้เงิน" เพิ่มเติม 2 หมื่นล้าน
บอร์ด สปสช. รับทราบสถานการณ์ใช้งบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ปี 2564 เบิกจ่ายค่าบริการโควิด-19 เกินกว่าที่ได้รับมารวม 2 หมื่นล้านบาท มอบ สปสช.จัดทำคำขอรับงบเพิ่มเติมเสนอสภาพัฒน์ฯ
การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 11/2564 มีมติรับทราบสถานการณ์ผลงานบริการมากกว่าที่ได้รับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 20,829.23 ล้านบาท และมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำคำขอรับงบประมาณเพิ่มเติม โดยระหว่างรองบประมาณให้สามารถใช้เงินกองทุนจากรายการและประเภทบริการอื่น หรือรายการ รายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม ที่ไม่มีภาระผูกพันทดรองจ่ายค่าบริการโควิด-19 ไปก่อน
นายชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 11/2564 ว่า ครม. ชุดนี้ตระหนักความสำคัญต่องบประมาณสนับสนุน สปสช. เพื่อดำเนินภารกิจระบบสาธารณสุขอย่างเต็มที่ วงเงินงบประมาณที่เสนอมานี้ ได้มีการหารือในคณะทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. รวมถึงผู้ปฏิบัติงานร่วมกันมาตลอด มีการปรับอัตราค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมกันนี้ สปสช. ได้นำหารือเบื้องต้นกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว เมื่อบอร์ด สปสช. เห็นชอบคำของบประมาณ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติมนี้ ในฐานะประธานบอร์ดฯ จะเร่งนำเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 สปสช.ได้รับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ สำหรับบริการโรคติดเชื้อโควิด-19 และบริการที่เกี่ยวข้อง ไปแล้วจำนวน 4 รอบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 30,348.35 ล้านบาท แบ่งเป็นรอบที่ 1 จำนวน 2,999.70 ล้านบาท รอบที่ 2 จำนวน 3,752.71 ล้านบาท รอบที่ 3 จำนวน 10,569.83 ล้านบาท และรอบที่ 4 จำนวน 13,026.12 ล้านบาท โดยนำไปใช้เป็นค่าบริการสำหรับโรคโควิด-19 เช่น บริการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับคนไทยทุกคน บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และค่าบริการรักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนโควิด รวมไปถึงค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการได้รับความเสียหาย เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ เพิ่มเติมค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวในส่วนผู้ว่างงาน เป็นต้น
สำหรับผลการใช้จ่ายงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด-19 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ภาพรวมในช่วงแรกของการแพร่ระบาดต้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่หลักร้อยล้านบาท ต่อมาขยับเพิ่มสูงเป็นหลักพันล้านบาท ต่อมาในช่วงปีงบประมาณ 2564 ที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือน พ.ค. - ส.ค. ยอดการเพิ่มเป็นจำนวน 5,000 -7,000 ล้านบาท และเดือน ส.ค. สูงถึง 11,000 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายของหน่วยบริการปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ทำให้ในเดือน ก.ย. มีการเบิกจ่ายสูงถึง 15,000 ล้านบาท ด้วยสถานการณ์การเบิกจ่ายค่าบริการนี้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายบริการโควิด-19 มากกว่างบประมาณที่ สปสช. ได้รับมารวมทั้งสิ้น 20,829.23 ล้านบาท แบ่งเป็นเป็นหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 15,074.67 ล้านบาท สังกัดหน่วยงานรัฐอื่นๆ 1,585.37 ล้านบาท และสังกัดเอกชน 4,169.20 ล้านบาท
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการรองรับบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด-19 จากการคาดการณ์จากสถานการณ์ที่ผ่านมาในปี 2564 คาดว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 (ต.ค.-ธ.ค. 64) จะมีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบริการฯ ประมาณเดือนละ 8,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ สปสช.ได้ขอรับสนับสนุนงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติมแล้ว จำนวน 24,108.88 ล้านบาท