เช็คเกณฑ์ "เยียวยาเกษตรกร" ปี2564/65 ประสบภัยน้ำท่วม สูงสุด 30 ไร่/ครัวเรือน
มาแล้ว เปิดหลักเกณฑ์ "เยียวยาเกษตรกร" 2564 ล่าสุด พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจาก น้ำท่วม สูงสุด 30 ไร่/ครัวเรือน เช็ครายละเอียด - เงื่อนไขได้ที่นี่
วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เปิดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ "เยียวยาเกษตรกร" ปี 2564/65 สำหรับ "เกษตรกร" ที่ประสบภัย "น้ำท่วม" จากอิทธิพลของ "พายุเตี้ยนหมู่" สูงสุด 30 ไร่/ครัวเรือน เช็คเลยรายละเอียดและเงื่อนไข
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศพร้อมช่วยเหลือ "เยียวยาเกษตรกร" ที่พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ "น้ำท่วม" และภัยพิบัติอื่น ๆ ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยจะต้องเป็น "เกษตรกร" ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัยพิบัติ จึงจะได้รับการช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ดังนี้
- ข้าว 1,340 บาทต่อไร่
- พืชไร่ และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่
- ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 4,048 บาทต่อไร่
หลังจากที่ "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว "เกษตรกร" ต้องยื่นแบบขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. หรือนายกเทศมนตรีรับรอง จากนั้นจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่เสียหายจริง เพื่อช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร 02-579-0121 ถึง 27
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ "พายุเตี้ยนหมู่" ที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยก่อให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะ "นาข้าว" ที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม จึงได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งให้การช่วยเหลือพี่น้องชาวนาโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ปี 62
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กรมการข้าวได้บูรณาการข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่โดยตรง ข้อมูลเบื้องต้น เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 พบว่านาข้าวในฤดูนาปี 2564/65 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมด 1.8 ล้านไร่ ในพื้นที่จำนวน 38 จังหวัด 285 อำเภอ 1,583 ตำบล
ซึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, นครสวรรค์, สุโขทัย และจังหวัดพิจิตร อย่างไรก็ตามพื้นที่น้ำท่วมอาจมีความแตกต่างกัน ทั้งระดับความลึก ช่วงระยะเวลาที่ท่วมขัง และความใสขุ่นของน้ำที่ท่วมขัง ชนิดพันธุ์ข้าว อายุของข้าว ที่ทำให้มีผลต่อระดับความเสียหายและการฟื้นตัวของข้าว ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องติดตาม และประเมินผลต่อไป
ทางด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงประชาชนผู้ประสบภัยรวมไปถึงเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าว กรมการข้าวจึงได้มีมาตรการการดูแลชาวนาผู้ปลูกข้าวหลังจากประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียอย่างสิ้นเชิง
โดยพี่น้องชาวนาจะได้รับความช่วยเหลือ ไร่ละ 1,340 บาท (รายละไม่เกิน 30 ไร่) ตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตามกิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยหลังจากน้ำลดทั้งในพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่นอกเขตชลประทาน ภาครัฐฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการติดตามให้คำแนะนำและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
สำหรับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวให้ความช่วยเหลือนั้น จะสนับสนุนให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 10 ไร่ ไร่ละ 7 กิโลกรัม (นาดำ) และไร่ละ 15 กิโลกรัม (นาหว่าน) แบ่งเป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง 1,701,200 กิโลกรัม ข้าวหอมปทุม 500,400 กิโลกรัม และข้าวเหนียว 2,350,100 กิโลกรัม รวม 4,551,700 กิโลกรัม
โดยปริมาณการสนับสนุนบรรเทาฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติร้ายแรงในแต่ละครั้ง หรือสภาพการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ปี 62 โดยมีการปรับอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เกิดภัย 1 ก.ย. 2564 ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ "ข้าว" ไร่ละ 1,340 บาท "พืชไร่และพืชผัก" ไร่ละ 1,980 บาท ส่วน ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท