เด่นโซเชียล

วันสุดท้าย "โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์" รับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนปิดตัว 22 ต.ค.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันสุดท้าย "โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์" รับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนปิดตัว 22 ต.ค.นี้ เตรียมบันทึกประวัติศาสตร์ 200 วัน กับการเปิดศูนย์

เพจเฟซบุ๊ค โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีการอัปเดตสถานการณ์ การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงวันนี้ นับเป็นวันที่ 185 แล้ว ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ดูแลผู้ป่วยโควิดสะสมไปแล้วในช่วงนี้ รวม 4,704 ราย ศูนย์วัคซีนธรรมศาสตร์รังสิตครบ 123 วัน ที่ได้ให้วัคซีนแก่ผู้คนแถวนี้ไปแล้วรวม 270,009 เข็ม กับศูนย์ธรรมศาสตร์ Home Isolation วันที่ 101 ซึ่งได้ดูแลผู้ป่วยโควิดสะสมรวมทั้งสิ้น 2,398 คน ถ้ารวมจำนวนผู้ป่วยโควิดที่รับดูแลในโรงพยาบาลหลัก ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นมา อีก 1,778 คน ก็เท่ากับว่า ธรรมศาสตร์ทั้งระบบ ได้รับดูแลผู้ป่วยโควิดในช่วงเกือบ 200 วันนี้มาแล้ว รวม 15,982 คน และมีผู้มารับวัคซีนจากเราที่นี่ 173,533 คน จาก 2 แสนกว่าเข็มที่พวกเราฉีดวัคซีนให้ไปทั้งหมด

 

วันสุดท้าย "โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์" รับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนปิดตัว 22 ต.ค.

ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 4-5 วันก่อน ที่เคยต่ำกว่าหมื่นมาหลายวัน วันนี้ ผู้ป่วยใหม่รวมคือ 11,754 คน และเสียชีวิต 123 คน แต่ถ้าเอาตัวเลขทั้งสัปดาห์ รวม 7 วัน มาเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ จะอยู่ที่ 10,689 คน และเสียชีวิตเฉลี่ย 98.70 คนต่อวัน ตัวเลขของวันนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยพอสมควร หวังว่าตัวเลขจะขึ้น ๆ ลง ๆ รายวันอีกต่อไป ไม่ใช่ขึ้นตลอด ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของเวฟต่อไป อย่างที่พวกเรากลัวอยู่นะ
 
สถานการณ์ภายในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ วันนี้ ยังสะท้อนภาพขาลงของโควิดเวฟ 4 ชัดเจนอยู่ ยังไม่มีตัวบ่งชี้บอกว่าเวฟ 5 จะมาถึง วันนี้ในโรงพยาบาลหลัก มีผู้ป่วยโควิดรักษาตัวเหลืออยู่เพียง 27 ราย จากจำนวนร้อยเตียงโควิดที่เราเตรียมไว้ จำนวนผู้ตรวจ Swab แล้วมีผลเป็นบวกมีมาเพิ่มเพียง 2 คนเท่านั้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ในคืนวันนี้ อยู่ที่ 79 รายเท่านั้น 

 

สำหรับโครงการ Home Isolation ยังคงเหลือผู้ป่วยแอคทีฟที่ต้องดูแลเหลืออีกเพียง 44 รายเท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้ยืนยันสถานการณ์ในกทม.และปริมณฑล ที่มีผู้ป่วยใหม่ลดลงชัดเจน เราเข้าใจว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่ขณะนี้ น่าจะมาจากต่างจังหวัด และในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากจนน่าวิตก และยังมีอัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีน
ในอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับ กทม.และปริมณฑล

 

วันสุดท้าย "โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์" รับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนปิดตัว 22 ต.ค.

สำหรับที่ศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ พวกเรายุติการรับลงทะเบียนสำหรับผู้ที่มาฉีดวัคซีนเข็มแรกประมาณ 1 เดือนมาแล้ว โดยไม่ได้รับลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นการทั่วไปอีกแล้ว เว้นแต่เป็นการฉีดเข็มแรกในผู้ป่วยสูงอายุ หรือที่เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 608 ที่ทำในโรงพยาบาลหลัก หรือเป็นการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐ เช่น การดำเนินการในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี เป็นต้น ช่วงระยะเวลานี้จึงเป็นการเคลียร์คิวของผู้คนที่มาลงทะเบียนเข็มแรกไว้นานมากแล้ว กับผู้ที่มีคิวมารับ Astra เป็นเข็มที่สอง ที่รอรับวัคซีนให้ครบโดส ซึ่งจะครบจำนวนกลุ่มเหล่านี้ ในอีกประมาณเดือนเศษ คือไม่เกินกลางเดือนธันวาคม   

 

จากนั้น เราก็น่าจะสามารถยุติการดำเนินการศูนย์วัคซีนธรรมศาสตร์ที่ยิมเนเซียม 4 ได้ หลังจากนั้น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จะกลับมาฉีดวัคซีนให้ผู้คนในลักษณะเฉพาะกลุ่ม  ซึ่งอาจมีจำนวนวันละหลายร้อยคนที่โรงพยาบาลหลักได้ โดยไม่ต้องใช้ศูนย์รับวัคซีนที่ยิม 4 ที่มีศักยภาพให้วัคซีนได้ในระดับหลายพันคนต่อวันอีกต่อไปแล้ว

 

วันนี้ เราได้รับ Astra เพิ่มมาจาก สธ. อีกจำนวนหนึ่ง ราว  5,000 โดส ดังนั้น คิวของผู้ที่จองไว้ที่จะมารับวัคซีนที่ยิม 4 ของเรา จึงขยายเวลาที่จะคอนเฟิร์มการมีวัคซีนให้ฉีดได้ ไปจนถึงวันที่ 13 ตุลาคมแล้ว ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่มีนัดรับวัคซีน ระหว่าง 8-13 ตุลาคมด้วย ภายใต้สถานการณ์การลดลงของผู้ป่วยโควิดรายใหม่ในกทม.และปริมณฑลนี้  ในการประชุม Warroom ของเราในเช้าวันนี้ พวกเราจึงตัดสินใจกันว่า การปฏิบัติภารกิจที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ที่ผ่านมากว่า 6 เดือน น่าจะสามารถยุติลงได้ และนำอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ในส่วนนี้มารองรับการดูแลผู้ป่วยปกติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจนเกือบจะเท่ากับในสถานการณ์ก่อนโควิด 

 

ดังนั้น เราจึงตัดสินใจว่า (8 ตุลาคม) เราจะรับผู้ป่วยโควิดเข้าโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เป็นวันสุดท้าย และนับไปอีก 14 วัน หลังจากนั้น คือวันที่ 22 ตุลาคม จะเป็นวันที่ยุติการดำเนินการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ในเวฟที่ 3+4 นี้อย่างเป็นทางการ  ซึ่งในวันนั้น จะเป็นวันที่พวกเราซึ่งได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลสนามแห่งแรก และเป็นโรงพยาบาลสนามที่ดีที่สุดของประเทศ มาครบ 200 วันพอดี  เราคงจะบันทึกประวัติศาสตร์สองร้อยวันหลังนี้ เป็นประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ 34 ปี ของการก่อตั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ต่อไป ขอผลัดไปเป็นวันจันทร์หน้า ที่เราจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของธรรมศาสตร์ นับแต่เมื่อประกาศข้อบังคับ มธ.ว่าด้วยการบริหารทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉินในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ในราชกิจจานุเบกษา ในเรื่องการจัดหาวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น mRNA อย่าง Moderna หรือ Pfizer หรือวัคซีน Protein Base หรือการจัดหายา และเวชภัณฑ์โควิดจากต่างประเทศทั้ง Favipilavir และ Molnupilavir และชุดตรวจ ATK ทั้งหลาย ซึ่งธรรมศาสตร์ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา2 เดือนนี้
 

logoline