
ดราม่า "ไฟเซอร์นักเรียน" วัคซีน ที่เด็กไม่อยากได้
สรุป ดราม่า #ไฟเซอร์นักเรียน เมื่อนักเรียนบางกลุ่มที่ได้โควต้าฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ตัดสินใจไม่ฉีด เพราะเชื่อข้อมูลจาก แอป tiktok
7 ต.ค.64 กลายเป็นประเด็นดราม่า เมื่อมี นร. อายุ 12-18 ปี บางกลุ่มที่ได้สิทธิ์ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์"
โดยมีการแชร์ข้อมูลในทวิตเตอร์ แฮชแท็ก "ไฟเซอร์นักเรียน" ว่านร. ที่ได้โควต้าบางคน ตัดสินใจไม่ฉีดไฟเซอร์ที่ได้รับการจัดสรรมา ด้วยเหตุผล เช่น
- ผู้ปกครองไม่อยากให้ฉีด
- การไปฉีดวัคซีนมีความยุ่งยาก ต้องแต่งตัวถูกระเบียบ, ตัดผม, ย้อมผมเป็นสีดำ ฯลฯ
- เชื่อข้อมูลในแอปฯ TikTok ว่าไฟเซอร์ไม่ดี ฉีดแล้วอาจตาย ประสิทธิภาพไม่ต่างจากซิโนแวค
- เชื่อว่าฉีดไฟเซอร์แล้วจะเปลี่ยน DNA จนเกิดการกลายพันธุ์ได้
หลายคนงงว่า นร. เหล่านี้ไปได้ข้อมูลมาจากไหน และทำไมถึงเชื่อข้อมูลเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่วัคซีนเหล่านี้ มีการเรียกร้องอย่างหนักเพื่อให้ได้มา และมีข้อมูลรับรองอีกมาก จนมีการแห่ติด # "ไฟเซอร์นักเรียน" เพื่ออธิบายข้อมูลที่ถูกต้อง จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เช่น
"ฟังนะ ที่เค้าโมโหกันเพราะคนที่พยายามเรียกร้องแทบตาย แต่ไม่ได้ฉีดค่ะ ส่วนคนที่ได้สิทธิบอกไม่เอา แต่ถึงแกจะสละสิทธิ คนที่อยากฉีดก็ไม่ได้ฉีดอยู่ดี แกเห็นไรมั๊ย"
"ตอนแรกเรียกร้องหา Pfizer กันแทบตาย สุดท้ายมาเชื่ออะไรกันใน tiktok แล้วปฏิเสธวัคซีนกัน เออ สู้ ๆ"
ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า นักเรียนกว่า 71% ประสงค์ฉีดวัคซีนที่ทาง ศธ. จัดสรรมาให้
ที่มา twitter