เด่นโซเชียล

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้ ที่เตรียมออกเดินทางในปี 2022 นี้ หลังร่วมมือกับ องค์การนาซา ของสหรัฐฯ

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ยาน KPLO (Korean Pathfinder Lunar orbiter) ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ "เกาหลีใต้" ที่กำลังจะออกเดินทางในปีหน้านี้แล้ว 

 

 

ยาน KPLO (Korean Pathfinder Lunar orbiter) จะเป็นภารกิจแรกสู่ "ดวงจันทร์" ของเกาหลีใต้ มีกำหนดการส่งไปยังดวงจันทร์ ในปี ค.ศ. 2022 และยังเป็นก้าวแรกของเกาหลีใต้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในวงการสำรวจดาวเคราะห์นานาชาติ ภารกิจ "ยานสำรวจดวงจันทร์" ครั้งแรกของเกาหลีใต้นี้เป็นความร่วมมือกับองค์การนาซาของสหรัฐฯ 

 

โดย ยาน KPLO จะติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในเกาหลีใต้ กับกล้องถ่ายภาพของนาซา และจะส่งข้อมูลภาพพื้นผิวดวงจันทร์แก่นักดาราศาสตร์ เพื่อใช้สนับสนุนการวางแผนภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต (รวมถึงการส่งนักบินอวกาศลงไปสำรวจบริเวณขั้วของดวงจันทร์) 

 

ยาน KPLO จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดฟอลคอน 9 ของบริษัท SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2022 มีกำหนดถึง "ดวงจันทร์" ประมาณกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 (หากการปล่อยจรวดไม่เลื่อนออกไป) 

 

เมื่อ ยาน KPLO ไปถึง ดวงจันทร์ แล้วจะโคจรรอบดวงจันทร์ในวงโคจรรูปวงกลมที่มีระดับความสูงเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 กิโลเมตร และใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ 6 ตัว สำรวจดวงจันทร์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี 

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

 

สำหรับอุปกรณ์ 4 ตัวแรกบน ยาน KPLO เป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพและตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผลิตใน เกาหลีใต้ ประกอบด้วย 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 1 : กล้องถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ความละเอียดสูง ในระดับ 2.5 เมตร/พิกเซล 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 2 : กล้องถ่ายภาพมุมกว้างสำหรับวิเคราะห์ชนิดวัสดุบนพื้นผิวดวงจันทร์ จากลักษณะการสะท้อนแสงและกระเจิงแสงอาทิตย์บนพื้นผิว 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 3 : เครื่องวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีแกมมา ทำหน้าที่สังเกตการณ์รังสีแกมมาพลังงานสูงที่ปล่อยออกมาจาก ดวงจันทร์ ซึ่งระดับพลังงานของรังสีแกมมาเหล่านี้จะขึ้นกับธาตุที่เป็นแหล่งกำเนิดรังสี นักวิทยาศาสตร์จึงนำข้อมูลความสัมพันธ์ดังกล่าวมาศึกษาชนิดของวัสดุบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 4 : กล้องโพลาไรเมตรี (Polarimetric) ใช้วัดแสงที่มีระนาบการสั่นของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่าง ๆ สามารถตรวจวัดประเภทวัสดุบนพื้นผิวที่สะท้อนแสงอาทิตย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาองค์ประกอบทางแร่บนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ 

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

การวิเคราะห์ข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้ร่วมกันจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบของพื้นผิวดวงจันทร์ และลักษณะทางธรรมชาติของพื้นที่ทับถมของหินภูเขาไฟแบบต่าง ๆ รวมถึงวิวัฒนาการของภูมิประเทศบนดวงจันทร์ตลอดระยะเวลา 4 พันล้านปี 

 

ขณะที่ อุปกรณ์ตัวที่ 5 คือ เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็ก เป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของ ยาน KPLO ตัวสุดท้ายที่ผลิตในเกาหลีใต้ แม้ว่าดวงจันทร์จะสูญเสียสนามแม่เหล็กที่ครอบคลุมตัวดาวทั้งดวงแล้ว แต่ยังมีสนามแม่เหล็กอ่อน ๆ ปรากฏเป็นหย่อมในบางพื้นที่ เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็กบนยานจะศึกษาสนามแม่ดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ว่าสนามแม่เหล็กเหล่านี้จะช่วยลดความรุนแรงของสภาพการแผ่รังสีจากอวกาศได้มากน้อยเพียงใด และสนามแม่เหล็กที่หลงเหลืออยู่บนดวงจันทร์อาจใช้ศึกษาสภาพทางธรรมชาติของดวงจันทร์ในอดีตได้ 

 

อุปกรณ์ตัวสุดท้ายบนยาน KPLO คือ กล้อง ShadowCam กล้องถ่ายภาพที่มีความไวในการตอบสนองสูงมาก ผลิตโดย องค์การนาซา ของสหรัฐฯ ใช้ถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ส่วนที่ตกในเงามืดตลอดเวลา เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำคัญเรื่องภูมิประเทศและการกระจายตัวของน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมไปถึงการวางแผนสำรวจบริเวณขั้วดวงจันทร์ในอนาคต 

 

ในภารกิจ KLPO องค์การนาซา ยังมีความร่วมมือกับ เกาหลีใต้ อีก 3 อย่าง นอกจากการผลิตกล้อง ShadowCam สำหรับยาน KPLO ได้แก่ 

 

  • การคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ของนาซา 9 คนเข้าร่วมทีมนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจของยานลำนี้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 เพื่อช่วยสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ 
  • การร่วมทดสอบระบบอินเตอร์เนตในห้วงอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ (Interplanetary internet) กับยาน KPLO ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคม 
  • การสนับสนุนในเชิงเทคนิคของนาซา ในการออกแบบภารกิจ การสื่อสารคมนาคมในห้วงอวกาศลึก และเทคโนโลยีการนำทาง 

 

เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ตกลงเซ็น "ข้อตกลงอาร์ทีมิส" (Artemis Accords) ซึ่งเป็นหลักการด้านความร่วมมือระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมแผนการสำรวจดวงจันทร์ของนาซาในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะส่งผลให้การแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากการสำรวจดวงจันทร์ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้เป็นไปได้ง่ายขึ้น และปูทางให้ประเทศทั้งสองมีโอกาสร่วมมือกันในโครงการอวกาศในอนาคตต่อไป 

 

ภารกิจ KPLO นับเป็นเฟสแรกของโครงการ สำรวจดวงจันทร์ ของประเทศเกาหลีใต้ ส่วนในเฟสที่ 2 เกาหลีใต้วางแผนจะส่งยานลำอื่น ๆ ทั้งยานโคจรรอบดวงจันทร์ ยานลงจอด และรถสำรวจ 

 

ประธานาธิบดีมุน แจอิน ผู้นำรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ประกาศว่า เกาหลีใต้จะส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ไปกับจรวดที่พัฒนาและผลิตในประเทศ ก่อนปี ค.ศ. 2030 

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. / NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

อ้างอิง : www.planetary.org

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ