เด่นโซเชียล

"ธุรกิจ SMEs" เฮ แรงงาน "จ่ายเงินเยียวยา" หัวละ 3,000 นาน 3 เดือน ลงทะเบียน ต.ค.

30 ก.ย. 2564

"ธุรกิจ SMEs" เฮอีก กระทรวงแรงงาน "จ่ายเงินเยียวยา" 3,000 บาทต่อหัว นาน 3 เดือน สูงสุดไม่เกิน 6 แสนบาท คาด ต.ค.นี้ เปิดลงทะเบียน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึกออนไลน์" ว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอมาตรการ และรายละเอียดการเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจ "SMEsทั้ง10 สาขาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  โดยเบื้องต้นได้มีการหารือ และนำเสนอรายละเอียด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยได้มีการกำหนดมาตรการในเยียวยา คือ

จ่ายเงินชดเชยสำหรับการจ้างงานให้แก่เจ้าของกิจการธุรกิจเอสเอ็มอี จำนวน 480,000 กิจการ โดยมีลูกจ้างประมาณ 5.6 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าว 6 แสนคน และคนไทยประมาณ 5 ล้านคน แต่การจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เจ้าของกิจการ จะให้เฉพาะแรงงานที่เป็นคนไทยเท่านั้น

 

โดยเบื้องต้น กระทรวงแรงงาน ได้เสนอกรอบวงเงินการเยียวยาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หรือสูงสุดไม่เกิน 6 แสนบาทต่อกิจการ โดยที่เจ้าของกิจการจะต้องไม่เลิกจ้างแรงงานเกิน 5% คาดว่า มาตรการดังกล่าว จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท 

 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ กระทรวงได้เสนอรายละเอียดให้แก่สภาพัฒน์พิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป คือจะต้องนำเสนอรายละเอียดให้แก่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้(คณะกรรมการกลั่นกรองฯ) พิจารณารายละเอียดก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ผ่าน ครม. เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นไปแล้ว 

 

สำหรับระยะเวลาภายหลังจากผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว กระทรวงได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการคราว ๆ ไว้ดังนี้ คือ

 

  • เดือนตุลาคม 2564 จะเปิดให้เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีมาลงทะเบียน เพื่อขอรับการเยียวยาก่อน
  • เดือนพฤศจิกายน 2564 เริ่มจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี ต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน หรือประมาณช่วงเดือนมกราคม 2565 จะเป็นช่วงสิ้นสุดการจ่ายเงินเยียวยา 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว เป็นไปเพื่อรักษา และคงสภาพการเปิดกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอีเอาไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด  และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความอ่อนไหว โดยในระลอกแรกที่มีการระบาดตั้งแต่ช่วงปี 2563 พบว่า มีพนักงานที่ทำงานออกจากระบบไปแล้วกว่า 5 แสนคน  แต่หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง  มหกรรม JOB Expro  มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา แต่หลังจากเจอการระบาดระลอก 2 ยอดการจ้างงานก็ลดลง และในการระบาดระลอก 3 ช่วงเดือนเมษายน 2564 พบว่า ลูกจ้างหลุดออกจากระบบประกันสังคมมากถึง 2 แสนราย ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสถานภาพการจ้างงาน ของธุรกิจเอสเอ็มอี กระทรวงแรงงานจึงมีมาตรการดังกล่าวออกมา เพื่อประคองให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และยังเป็นอีกแนวทางที่จะลดอัตราคนตกงาน หรือการว่างงานของประชาชนลงด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง