เด่นโซเชียล

ไขคำตอบ รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อ "กระเทียม" มีพิษ - เป็นสารก่อมะเร็งจริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ไขคำตอบ รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อ "กระเทียม" มีพิษ - เป็นสารก่อมะเร็งจริงหรือ หลังแชร์ว่อนโลกโซเชียล

วันที่ 4 กันยายน 2564 จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ รอยจุดสีน้ำตาลที่พบบนเนื้อ กระเทียม คือ เชื้อราที่มีพิษ และเป็นสารก่อมะเร็ง นั้น 

 

 

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่า "รอยจุดสีน้ำตาลที่พบบนเนื้อ กระเทียม คือ เชื้อรา ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อราพวกนี้เป็นเชื้อราที่มีพิษ หรือ สารก่อมะเร็ง นั้น" พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น "เป็นข้อมูลเท็จ

 

ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า จุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมอาจเกิดจากรอยช้ำของ กระเทียม ส่งผลให้เชื้อราหลากหลายชนิดอาจปนเปื้อนหรือเข้าไปเจริญอยู่ในบริเวณรอยช้ำนั้น ๆ โดยมักพบในกระเทียมที่มีการเก็บรักษาไม่เหมาะสม หรือเก็บไว้เป็นเวลานาน 

 

ตามที่มีข้อกังวลว่า เชื้อราที่อยู่บนกระเทียมอาจสร้างสารพิษหรือสารก่อมะเร็งนั้น จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัย พบว่า เชื้อรา Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus เป็นเชื้อราที่สามารถสร้างสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าพบสารอะฟลาทอกซินบริเวณรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียม 

 

จึงแนะนำให้ควรเลือกซื้อกระเทียมที่สดใหม่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด ไม่มีลักษณะของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อรา การเก็บรักษาควรเก็บไว้ในที่แห้งไม่อับชื้น และไม่เก็บไว้นานเกินไป หากพบรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียมควรทิ้งไปทั้งกลีบหรืออาจหั่นบริเวณนั้นทิ้ง และควรรับประทานกระเทียมที่ปรุงสุกเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ 

 

กระเทียม

 

 

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร 02-2026800 

 

สรุปเรื่องนี้คือ รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมคือรอยช้ำ จึงส่งผลให้เชื้อราหรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ปนเปื้อนหรือเข้าไปเจริญอยู่ในบริเวณรอยช้ำนั้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่ารอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมนี้มีสารก่อมะเร็ง 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพจเฟซบุ๊ก "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงเรื่องที่มีการแชร์ดังกล่าว ระบุว่า รอยสีน้ำตาลบนกระเทียม ผมว่าเป็นแค่รอยช้ำนะครับ มีคนส่งมาถามเยอะเลยถึงกรณีที่มีคนโพสต์ว่า เนื้อกระเทียมที่แกะแล้วเจอมีรอยจุดสีน้ำตาล เป็นเชื้อราที่สร้างสารพิษก่อมะเร็ง อันตรายไม่ให้กิน นั้น  

 

ลักษณะรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียมแบบนี้ ส่วนตัวผมเองก็เคยเห็นนะ เวลาแกะกระเทียมทำอาหาร ซึ่งด้านนอกของกระเทียมก็ดูสะอาด ไม่มีร่องรอยเชื้อรา แต่ด้านในมีรอยสีน้ำตาลดังกล่าว จากการตรวจสอบก็พบว่ามันเป็นเพียงแค่ รอยช้ำ (bruise) บนกระเทียมเท่านั้น 

 

จากข้อมูลที่ได้มาบอกว่า รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมนี้ แสดงว่ากระเทียมเริ่มเก่า เริ่มสภาพไม่ดีแล้ว โดยอาการช้ำของกระเทียมนี้เกิดขึ้นจากการกระแทกตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจนถึงการขนส่ง หรือแม้แต่การเพาะปลูกในดินที่แข็งและหนักเกินไป เมื่อกลีบไหนของกระเทียมเกิดรอยช้ำขึ้นก็จะทำให้สีเปลี่ยนแปลงไป จากขาว เปลี่ยนเป็นเหลืองอมน้ำตาล รวมทั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในแผลรอยช้ำนั้น แล้วทำให้มันเสียเร็วขึ้น 

 

แต่ทั้งนี้สามารถนำมาบริโภคได้แม้มันใกล้จะเสียแล้ว โดยการตัดส่วนที่เป็นรอยจุดน้ำตาลนั้นทิ้งไป หรือถ้าไม่ชอบก็ทิ้งไปทั้งกลีบเลย ส่วนโรคเชื้อราที่ขึ้นบนกระเทียมนั้นมีหลากหลายชนิด แต่มักจะสังเกตได้ค่อนข้างชัดถึงลักษณะและสีของเส้นใยและสปอร์เชื้อราที่ขึ้นอยู่ และอาการเน่าเสียที่เกิดขึ้นตามมาบนต้นและหัวกระเทียม 

 

ไขคำตอบ รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อ "กระเทียม" มีพิษ - เป็นสารก่อมะเร็งจริงหรือ


ที่มา Anti-Fake News Center Thailand

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ