
31 ปี "สืบ นาคะเสถียร" เสียงปืน ที่พลิกฟื้น ผืนป่า
ครบรอบ 31 ปี การจากไปของ "สืบ นาคะเสถียร" หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เดิมพันชีวิต ผู้พลิกฟื้นผืนป่า
นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2533 เป็นต้นมา ชื่อของ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กลายเป็นที่รู้จัก และทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาตระหนักถึงมาตรการ ในการดูแลรักษาป่า หากไม่มี "ชีวิต แลก ชีวิต" เสียงปืนที่ดังขึ้น ก่อนรุ่งสางของวันที่ 1 ก.ย.2533 ที่บ้านพักของ สืบ นาคะเสถียร ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ยังดังก้องสะท้าน จนผ่านมา 31 ปี
การเริ่มต้นการทำงานของสืบ นาคะเสถียร
- 2518 สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี
- 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาอนุรักษ์วิทยา
- 2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
- 2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่ สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างมาก
- 2529 รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาล ที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบ นาคะเสถียร ได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย
- 2530 เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบ นาคะเสถียร ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า"
- 2531 ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้อภิปรายว่า "คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน"
- 2532 ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร พบปัญหาต่าง ๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญ คือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย
- 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร สะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคม และราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง
18 กันยายน 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร
31 ปี ที่เสียงปืนดังกึกก้องในวันนั้น นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาตระหนัก ใส่ใจผืนป่ามากขึ้น