เด่นโซเชียล

รู้จัก "เดลตา" โควิด-19 กลายพันธุ์ แกร่งที่สุด แพร่เชื้อได้ไวที่สุดในตอนนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก่อนหน้านี้ เรียกว่า สายพันธุ์อินเดีย เพราะค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ในเดือนธันวาคมปี 2563 ทำความรู้จัก "เดลตา" โควิด-19 กลายพันธุ์ แกร่งที่สุด แพร่เชื้อได้ไวที่สุดในตอนนี้

ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยและทั่วโลก เหมือนจะควบคุมการระบาดของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะการที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์รู้จักไวรัส อาการ การรักษา รวมทั้งมีการผลิตวัคซีนโควิดออกมา และมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งกลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไปแล้ว แต่สถานการณ์โควิดที่ระบาดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ระบบสาธารณสุขในหลาย ๆ ประเทศมีปัญหา ทั้งแง่จำนวนผู้ที่ต้องการตรวจมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และผู้ป่วยวิกฤติที่มีมากจนอาจเกินศักยภาพที่บุคลากรทางการแพทย์ และระบบโดยรวมจะสามารถรับมือได้ อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยเฉพาะสายพันธุ์ "เดลตา" ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกว่า สายพันธุ์อินเดีย เพราะค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ในเดือนธันวาคมปี 2563

 

 

ไวรัสกลายพันธุ์ได้อย่างไร 

  • เมื่อไวรัสได้แพร่กระจายเข้าในตัวคนหนึ่ง ๆ จะมีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคงอยู่ของตัวมันเอง แต่เมื่อไวรัสมีการแพร่กระจายประชากรกลุ่มใหญ่มากขึ้น โอกาสการเปลี่ยนแปลงสารทางพันธุกรรมก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย พอติดเชื้อมากในระยะเวลาหนึ่ง สารพันธุกรรมจะเปลี่ยนแปลงจากดั้งเดิมอย่างชัดเจนจนกลายเป็นไวรัสกลายพันธุ์ เช่น เพิ่มความสามารถที่จะจับได้แน่นขึ้น โดยภูมิคุ้มกันกำจัดยากขึ้น หรือแพร่เชื้อได้มากขึ้น

การเรียกชื่อไวรัสกลายพันธุ์

  • สำหรับการเรียกไวรัสกลายพันธุ์นั้น เคยใช้เป็นอักษรตามด้วยตัวเลขทางพันธุศาสตร์ เช่น B.1.617.2 variant แต่ต่อมาคนนิยมเรียกเป็นชื่อประเทศที่ค้นพบครั้งแรก เช่น สายพันธุ์อังกฤษ หรือ สายพันธุ์อินเดีย ดังนั้น ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้มีการเปลี่ยนชื่อสายพันธุ์เป็นตัวอักษรกรีกเพื่อลดการตีตรา

 

เดลตา, โควิด-19, กลายพันธุ์, ฉีดวัคซีน, วัคซีนโควิด

 

 

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสายพันธุ์เดลตา

  • แพร่เชื้อได้เร็วมากกว่าสายพันธุ์อื่น

โดยขณะนี้มีการพบสายพันธุ์ "เดลตา" มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีการพบในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยพบว่าสายพันธุ์เดลตานี้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน และมีอาการหนัก เกิดขึ้นในบริเวณที่มีการฉีดวัคซีนโควิดในสัดส่วนที่น้อย โดยในปลายเดือนกรกฎาคม ทางกรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาประกาศว่า สายพันธุ์เดลตาพบเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด แพร่เชื้อได้เร็วมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึงร้อยละ 50 ซึ่งอัลฟาเองก็แพร่ได้มากกว่าไวรัสดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในอู่ฮั่นถึงร้อยละ 50 อยู่แล้ว ดังนั้น ในสถานการณ์ทั่วไปที่ไวรัสดั้งเดิมแพร่เชื้อจาก 1 คนไปได้ 2.5 ราย (Ro = basic reproductive rate) เดลตาอาจแพร่ไปได้ถึง 3.5 - 4 รายทีเดียว ดังนั้น ทำให้การแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง

  • เดลตาทำให้เกิดการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ใหม่ได้เยอะ

เนื่องจากการติดเป็นกลุ่มทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือได้ เตียงไม่พอ ยาไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ ทำให้เกิดการสูญเสียมากยิ่งขึ้น

 

  • "เดลตา" ทำให้โรคโควิด-19 มีอาการแสดงเปลี่ยนจากสายพันธุ์อื่น ๆ และทำให้ร้ายแรงขึ้น

การศึกษาจากสหราชอนาจักร พบว่า คนที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ไม่ค่อยมีอาการไอ หรือจมูกไม่รับกลิ่น แต่จะมีไข้ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเจ็บคอมากกว่า มีการศึกษาจากสกอตแลนด์ พบว่า คนที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาต้องนอนโรงพยาบาลมากกว่าอัลฟาถึงสองเท่าในกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน การศึกษาอื่น ๆ กำลังดำเนินการอยู่และน่าจะมีผลออกมามากขึ้น

  • คนไม่ฉีดวัคซีนโควิดเสี่ยงติดเดลตามากกว่า

ในสหรัฐอเมริกามีข้อมูลว่า รัฐที่คนฉีดวัคซีนน้อย เช่น ในทางใต้ของประเทศ มีการระบาดใหม่ของสายพันธุ์เดลตามากกว่า แม้ว่าบางรายได้รับวัคซีนแล้ว เด็กและคนอายุน้อยก็มีความเสี่ยงมาก เช่นข้อมูลในอังกฤษพบว่า เด็กและคนอายุน้อยกว่า 50 ปีมีความเสี่ยงต่อเดลตาสูงกว่า เพราะวัคซีนในช่วงต้นไม่ได้รับการอนุมัติในเด็กด้วย แม้ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนใดป้องกันเด็ก 5 - 12 ปี ในสหรัฐอเมริกา ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ติดสายพันธุ์เดลตาได้ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ร้อยละ 100 โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์เบื้องต้น พบว่า ในการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ได้ติดตามคนที่วัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว พบว่า วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) สามารถป้องกันไม่ให้มีอาการได้ ร้อยละ 88 และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 96 ในขณะออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-AstraZeneca) ป้องกันไม่ให้มีอาการได้ ร้อยละ 60 และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 93 สำหรับข้อมูลของโมเดอร์นา (Moderna) พบว่า สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ แต่เขียนบันทึกว่า มีการลดการสร้างแอนติบอดีที่กำจัดไวรัส (neutralizing titers)

 

  • ควรให้วัคซีนโควิดเพิ่มอีกเข็ม (Booster shot) เพื่อป้องกัน "เดลตา" ไหม

ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลตีพิมพ์ออกมาชัดเจน แต่ทั้ง ไฟเซอร์-ไบออนเทค และ โมเดอร์นา กำลังดำเนินการศึกษาทดลองและวัดผลอยู่ โดยในบางประเทศมีการเคลื่อนไหวให้โดสที่สามของวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งก็คือ ไฟเซอร์-ไบออนเทค และ โมเดอร์นา นั่นเอง โดยในสหรัฐอเมริกามีการเสนอว่า กลุ่มคนที่อายุมากกว่า 65 ปี หรือกล่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรจะได้รับเป็นลำดับต้น ๆ

  • ในอนาคตอาจมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอีก แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะหยุดไวรัสไม่ให้กลายพันธุ์

คำตอบ คือ การหยุดการระบาดให้ได้รวดเร็ว และไม่ติดในประชากรกลุ่มใหญ่ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยการทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รักษาระยะห่างทางกายภาพ อยู่ในที่อากาศถ่ายเท และเลี่ยงบริเวณที่แออัดหรืออาคารที่ปิด อย่าลืมฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 และติดตามข้อมูลข่าวสารในการดูแลตัวเอง เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังสม่ำเสมอ ทานอาหารครบหมู่ สุก สะอาด และรักษาน้ำหนักร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป ดูแลสุขภาพใจให้ไม่เครียดจนเกินไป

ข้อมูล : โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ