เด่นโซเชียล

"ย้อนรอย" 5 โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก คร่าชีวิตคนมาแล้วนับล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคระบาด"โควิด-19" จะพาไป"ย้อนรอย" 5 โรคระบาดใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก คร่าชีวิตมนุษย์ไปนับล้านคน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจาย และคร่าชีวิตประชาชนไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มนุษยชาติต้องเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรง แต่ในหลายศตวรรษ โรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอหิวาตกโรค  ไข้หวัดใหญ่ หรือ เอชไอวี "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมข้อมูล พาย้อนรอยกลับไปว่า เราได้เผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงอะไรมาบ้าง

 

กาฬโรค

กาฬโรค (Plague) เป็นโรคระบาดรุนแรงที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ในปี 2263 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของยุโรป มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 100,000 คน ในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจริง ๆ กาฬโรคได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก การแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ มีหมัดหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยหมัดหนูติดกับตัวหนูที่อยู่ใต้ท้องเรือสำเภาซึ่งเดินทางไปติดต่อค้าขายในดินแดนต่างๆ ผู้ป่วยกาฬโรคจะมีอาการตามชื่อที่ถูกเรียกกันว่า "ความตายสีดำ" หรือ "Black Death" กล่าวคือ ตามร่างกายของผู้ป่วย จะมีสีดำคล้ำ อันเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังที่ตายไป ส่วนอาการของผู้รับเชื้อกาฬโรค จะมีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้ม ตรงต่อมน้ำเหลืองต่าง ๆ จากนั้น จะมีไข้สูง ปวดตามแขนและขา เมื่ออาการหนักจะเจ็บปวดทุกข์ทรมาน กระทั่งเสียชีวิต

 

"ย้อนรอย" 5 โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก คร่าชีวิตคนมาแล้วนับล้าน

 

อหิวาตโรค

 

อหิวาตกโรค (Cholera) หรือที่เรียกว่า "โรคห่า" ได้ระบาดไปยังประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2363 ที่มีการระบาดจากอินเดีย เข้ามาไทย ผ่านทางปีนัง ทำให้มีคนตายจำนวนมาก ถนนหนทางเกลื่อนกลาดเต็มไปด้วยซากศพ ประชาชนอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความกลัว การระบาดครั้งนี้ มีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณ 3 หมื่นคน ทั่วโลกประมาณ 1 แสนคน ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯเป็นช่วงเวลาราว 1 เดือน จนกระทั่ง พ.ศ.2416 ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรคได้กลับมาระบาดอีกครั้ง และเวลาเพียงเดือนเศษ หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษ ได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกมากถึง 6,660 คน

 

ไข้หวัดใหญ่สเปน

ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ซึ่งระบาดรุนแรงทั่วโลกระหว่างปี 2461-2463 ถือเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไข้หวัดใหญ่สเปน เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะทำให้มีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกในยุคนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 20-50 ล้านคน ในจำนวนผู้ป่วย 500 ล้านคนที่ติดเชื้อในปี 2461 มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 10-20% และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ล้านคนเฉพาะในช่วง 25 สัปดาห์แรก  สิ่งที่ทำให้ไข้หวัดใหญ่สเปน แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่อื่น ๆ คือกลุ่มผู้เสียชีวิต โดยปกติไข้หวัดใหญ่มักคร่าชีวิตกลุ่มเด็กและคนสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่อ่อนแออยู่แล้วมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ไข้หวัดใหญ่สเปน เริ่มจากการคร่าชีวิตผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว ที่มีสุขภาพแข็งแรง ขณะที่กลุ่มเด็ก และคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนกว่า กลับเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มอื่น

 

เอดส์ หรือ HIV

 

โรค HIV หรือ AIDS ถูกพบครั้งแรกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อปี 2519 โรคเอชไอวี/เอดส์ ได้วิวัฒนาการตัวเองอย่างมากจนระบาดไปทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 36 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2524 ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสเอชไอวี 31-35 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่ประมาณ 21 ล้านคนอยู่ในแถบซาฮาราของแอฟริกา หลังเกิดการตื่นตัวต่อโรคเอดส์มากขึ้น วงการแพทย์ทั่วโลกก็พัฒนาวิธีการในการควบคุมไวรัสเอชไอวี และทำให้หลายคนที่ติดเชื้อนี้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติขึ้น ระหว่างปี 2548-2555 จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์/เอชไอวีทั่วโลก ลดลงจาก 2.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 1.6 ล้านคนต่อปี

 

"ย้อนรอย" 5 โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก คร่าชีวิตคนมาแล้วนับล้าน

 

ไข้หวัดใหญ่ 2009

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) 2009 เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม เอ (เอช1 เอ็น1) ที่มีรายงานพบเชื้อในคนครั้งแรก เมื่อเดือน เม.ย. 2552 เริ่มแพร่ระบาดในเม็กซิโก และสหรัฐฯ ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก เชื้อสายพันธุ์นี้ มีองค์ประกอบพันธุกรรมที่เป็นผลรวมจากไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ไข้หวัดนก ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมู ที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป ทำให้ WHO ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากหวั่นวิตกว่า เชื้อเอช1 เอ็น1 อาจจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น เนื่องด้วยโรคดังกล่าว สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว จึงจัดเป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญในช่วงเวลานั้น สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) คาดการณ์ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตประชากรโลกรวมกว่า 280,000 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่ WHO ยืนยันอยู่ที่ไม่ถึง 20,000 คนทั่วโลก

 

ปัจจุบันโควิด-19

ไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 209,299,029  คน และมีผู้เสียชีวิต 4,393,243 ราย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้มีความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีน เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคให้ได้ ขณะเดียวกัน ตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วโลก ยังคงเพิ่มสูงขึ้น

 

 

ที่มา : โรงพยาบาชเพชรเวช

          SCB

          Hfocus

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ