เด่นโซเชียล

หมอมนูญ จี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง อัตราฉีดต่ำแต่ตายสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอมนูญ" จี้ เร่งฉีดวัคซีน"โควิด-19" ให้กลุ่มผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง หลังพบ อัตราฉีดน้อย แต่อัตราการตายสูง

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์  หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ค หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดยระบุว่า ปัจจุบัน คนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ยังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 น้อยเกินไป  ซึ่งประเทศไทยฉีดวัคซีนให้คนไทยไปแล้ว 23.5 ล้านโดส

 

หมอมนูญ จี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง อัตราฉีดต่ำแต่ตายสูง

-ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนสูงอายุมากกว่า 60 ปี 3.7 ล้านคนได้เข็มแรก (เพียงร้อยละ 31 จากทั้งหมด 11.7 ล้านคน) และ 297,000 คนได้ครบ 2 เข็ม

- เป็นกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว 7 โรค โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน 1.9 ล้านคนได้เข็มแรก (เพียงร้อยละ 44 จากทั้งหมด 4.3 ล้านคน) และ 347,000 คนได้ครบ 2 เข็ม

- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ได้รับการฉีดเข็มแรก 9,800 โดส

หากดูตัวเลขการฉีดเข็มแรกจนถึงวันที่ 14 ส.ค.2564 ประชาชนทั่วไปฉีดไปแล้วเข็มแรก 9.6 ล้านคน 2.8 ล้านคนได้ครบ 2 เข็ม รวม 12.4 ล้านโดส (ร้อยละ 54 ของวัคซีนทั้งหมด) ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุฉีดไปรวม 4 ล้านโดส (ร้อยละ 21 ของวัคซีนทั้งหมด) และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรครวม 2.3 ล้านโดส (ร้อยละ 11 ของวัคซีนทั้งหมด)

 

จากเดิมที่เป้าหมาย เน้นฉีดให้กลุ่มบุคลากรการแพทย์ และสาธารณสุข ตามด้วยผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวให้มากที่สุด เนื่องจากมีแรงกดดันจากหลายกลุ่ม จากภาคการท่องเที่ยว คมนาคม แรงงาน ทำให้คนวัยทำงาน และคนในพื้นที่มีการระบาดได้วัคซีนก่อน ประกอบกับวัคซีนมีจำกัด และมาช้า ทำให้ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงได้วัคซีนช้าเกินไป สวนทางกับยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้เดิม

 

หมอมนูญ จี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง อัตราฉีดต่ำแต่ตายสูง

ประเทศไทยกำลังจะได้วัคซีนเพิ่มอีก 10 ล้านโดส ครั้งนี้ ตั้งเป้าจะเร่งฉีดให้กลุ่มคนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ก่อนกลุ่มอื่น จากนั้น จึงจะเริ่มกลับมาฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไป เพื่อลดการเสียชีวิต ที่มีแน้วโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 84 เป็นคนกลุ่มนี้ (ดูรูป) แต่คนหนุ่มสาววัย ทำงานอัตราตายต่ำกว่า 1 ใน 1,000 เราต้องลดจำนวนคนป่วยหนัก และเสียชีวิตให้มากที่สุด ระบบสาธารณสุขกำลังรับจำนวนผู้ป่วยหนักไม่ไหว รัฐควรส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปฉีดคนสูงอายุ คนป่วยติดเตียงที่บ้านมากขึ้น เพราะคนสูงอายุไม่สะดวกทึ่จะออกมาฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีน

รัฐต้องให้ความรู้แก่ลูกหลานว่า คนแรก ๆ ในครอบครัวที่ต้องฉีดวัคซีน คือคนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ไม่ต้องกลัวว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จะป่วยมีผลข้างเคียงจากวัคซีน เพราะถ้าไม่ฉีด เมื่อติดเชื้อ โอกาสจะเสียชีวิตสูงมาก

เดิมทีคิดว่า การฉีดวัคซีนให้กับคนวัยทำงานที่ต้องออกนอกบ้าน จะสามารถป้องกันไม่ให้นำเชื้อมาแพร่ให้กับคนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอยู่แต่ในบ้าน ปัจจุบันทราบดีแล้วว่า ถึงฉีดวัคซีนครบ 2 โดส คนวัยทำงานก็ยังติดเชื้อ และแพร่เชื้อให้คนสูงอายุในบ้านได้ วัคซีนมีประโยชน์ในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต เพราะฉะนั้น คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องเป็นกลุ่มแรกที่รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก่อนคนอื่น ๆ

 

ที่มา: หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ