ดวง

ฝึกจิตฝึกใจ “ทำบุญ” อย่างไรให้เป็น “กุศล” ที่แท้จริง

ฝึกจิตฝึกใจ “ทำบุญ” อย่างไรให้เป็น “กุศล” ที่แท้จริง

02 มิ.ย. 2565

ชาวพุทธจำนวนมากชอบเข้าวัด ทำบุญ แต่มีไม่มากที่ทำบุญแล้วเป็น "กุศล" เพราะเรายังเข้าใจเรื่อง "บุญ"  ไม่ถูกต้อง

บุญเป็นสิ่งที่ทำแล้วให้ผลต่อจิตใจ ทำให้ใจสูงขึ้น เบาขึ้น สบายขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็อาจเกิดข้อสงสัยได้ว่า ทำไมบางคนชอบไปวัดทำบุญ นุ่งห่มขาว แต่ในชีวิตจริง ถึงยังเป็นคนใจร้าย ขี้อิจฉา ใส่ร้ายคนอื่น ทั้งที่ ถ้าจะทำบุญให้เป็นบุญเป็นกุศลจริงๆ นั้น ควรเลิกคิดเรื่อง ทำแล้วจะเฮง ทำชาตินี้แล้วจะรวยชาติหน้า ควรวางใจว่า เราทำเพื่อฝึกใจให้คุ้นชินกับการสละสิ่งที่เรายึดมั่นสำคัญว่าเป็น “ของเรา”

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า มี 10 อย่างที่ทำแล้วเป็นบุญ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน การมีเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การแผ่ส่วนบุญ การอนุโมทนายินดีกับบุญที่ผู้อื่นทำ การฟังธรรม การแสดงธรรม และการทำจิตให้เห็นถูก เห็นตรงและดีงาม 


ทั้งนี้ จะเห็นว่า ทั้ง 10 ข้อที่ว่ามา ไม่มีข้อไหนเลยที่จำเป็นจะต้องทำในวัดเท่านั้น กระทั่งการฟังธรรม ปัจจุบัน เราสามารถหาฟังได้จากทางอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย ช่อง youtube เยอะแยะมากมาย ฉะนั้น บุญไม่ได้ขึ้นกับสิ่งที่ทำในวัดเท่านั้น บุญทำจากที่ไหนก็ได้ 
 

 

บุญไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เงินทำเท่านั้น ใน 10 ข้อที่กล่าวมา เป็นการทำบุญที่เป็น “วัตถุทาน” เท่านั้น ที่ต้องอาศัยเงิน ที่เหลือใช้ แรงกาย สติ ปัญญา เมตตา เวลา และที่สำคัญคือ "ใช้ใจ"


คนส่วนมากมักคิดว่า ทำบุญ แปลว่า ต้องใช้เงิน ถ้าทำด้วยเงินจำนวนมากแล้วจะรวย มองว่า การทำวัตถุทานเหมือนการลงทุนที่ออกดอกออกผลแบบเกินจริง ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยสอนไว้ว่า คำสองคำที่เรามักใช้ปะปนกันโดยไม่ทราบความหมาย คือ บุญและกุศล 


ความจริง การบริจาคเงิน สิ่งของ เขาเรียกว่า การทำทานด้วยวัตถุ หรือวัตถุทาน แต่จะเป็นบุญหรือไม่ อยู่ที่เจตนา เพราะทาน คือ การให้ทำเพื่อ “สละออก” ไม่ใช่เพื่อจะไปเอาอะไรคืนมา 


เพื่อให้ชัดเจน ท่านแยกคำสองคำนี้ออกจากกัน และบอกว่า โดยเนื้อแท้แล้ว “บุญ” กับ “กุศล” ควรจะเป็นคนละอย่าง หรือเรียกได้ว่า ตรงข้ามกันเลย


คำว่า “บุญ” แปลว่า ทำให้ฟูหรือพองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น ส่วนคำว่า “กุศล” นั้น แปลว่า แผ้วถางให้ราบเตียนไป ถ้าขยายความให้ชัดขึ้น ก็คือ บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อกีดกั้นบาป ไม่ให้งอกงาม หรือปรากฏขึ้น หมดอำนาจบุญเมื่อไหร่ บาปก็จะโผล่ออกมาและงอกงามสืบไปอีก 

 

ในขณะที่ “กุศล” นั้น ท่านพุทธทาสภิกขุ ระบุว่า เป็นเครื่องตัดรากเหง้าของบาปอยู่เรื่อยๆ จนมันเหี่ยวแห้งสูญสิ้นไม่มีเหลือ 

 

ฉะนั้น ไม่ว่าจะทำบุญด้วยทาน ศีล หรือภาวนา นับว่าเป็นบุญ ทั้งนั้น หากแต่บุญนั้นจะเป็นกุศล หรือไม่ เป็นไปเพื่อนิพพานอย่างที่เรามักอธิษฐานกันว่า นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ หรือไม่นั้น ต้องไปดูที่เจตนา แม้กระทั่ง เรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างการกราบพระนั้น ไม่ใช่แค่ต้องการให้เราแสดงความเคารพต่อสิ่งที่ดีงามและสูงกว่า แต่ยังฝึกให้เรามีสติ ในขณะกราบและเป็นการลดมานะ อัตตาที่มีในจิตใจของเรา เป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การสร้างวิมานในสวรรค์ ไม่ใช่เพื่อฝันถึงความมั่งคั่ง อย่าทำบุญเพื่อพอกพูนกิเลส มานะ อัตตา 


ประโยชน์ที่ใหญ่กว่านั้น คือ เป็นการทำลายความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดของจิตของใจว่า มีตัวมีตน ว่าสิ่งนี้เป็นของเรา ทำบุญครั้งต่อไป ทำด้วยใจที่มีสติ มีปัญญา จะได้ชื่อว่า ทำบุญแล้วเป็นกุศลอย่างแท้จริง

 

CR : ข้อมูลจากหนังสือ ความสุขใกล้ๆ ที่ไม่แคยเห็น 


ช่องทางการติดต่อ The BooneBoon54 : kj561 / 0922945562