
ผมเป็นอะไร ? ถ้าไม่ใช่ หมอดู
พักหลังๆ มีผู้ประกาศตัวว่าเป็น หมอดู ที่ชำนาญด้านนั้นบ้าง ด้านนี้บ้าง ถูกเชิญตัวไปออกรายการทีวีกันให้เป็นที่เอิกเกริก จะว่าไปแล้วก็ดีครับ ผมว่าเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของสังคมบ้านเรา ที่เชื่อถือเรื่องนี้มาแล้วอย่างยาวนาน จะได้มีทางเลือกใหม่ๆ บ้าง
คำว่า “หมอดู” นี่ หากเรียกอย่างเป็นทางการต้องเรียกว่า "โหราจารย์” นะครับ “โหรา” ก็มาจากคำว่า “โหร” แปลว่า ผู้พยากรณ์โดยอาศัยดาราศาสตร์เป็นหลัก หรือ ผู้ให้ฤกษ์และพยากรณ์โชคชะตาราศรี “อาจารย์” ก็แปลว่า ผู้ให้ความรู้ด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยดาราศาสตร์ แต่เมื่อเรียกเป็นวิชาการก็ต้องเรียก โหราศาสตร์
ในระยะแรกๆ นั้นโหราศาสตร์จะจำกัดอยู่เฉพาะ การผูกดวงชะตาจากเวลาเกิด วันเกิด เดือนเกิด และปีเกิด โดยอาศัยดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้าเกณฑ์เพื่อกำหนดว่าอยู่ในราศรีไหน อะไรทำนองนั้น
นอกจากนี้ก็มีการ ดูลายมือ ก็มีวิธีการไปอีกแบบหนึ่ง แล้วก็มี การดูดวงด้วยไพ่ทาโรต์ หรือ ไพ่ยิบซี ซึ่งก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบบหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้นยังมี การดูฮวงซุ้ย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นศาสตร์ในการดูที่ฝังศพสำหรับชาวจีนสมัยก่อนนู้น ต่อมาก็พัฒนามาเป็นดูทำเลที่ตั้งหรือทิศทางอันเป็นมงคล เรียกชื่อใหม่ว่า ฮวงจุ้ย แล้วก็ยังมี การดูโหงวเฮ้ง หรือลักษณะดี 5 อย่าง เรียกเป็นไทยๆ ว่า ตำรานรลักษณ์ศาสตร์ นั่นแหละ
แต่ที่ทำให้วงการโหราศาสตร์งงเอามากๆ ก็เรื่อง “การตั้งชื่อและพิจารณาอักษรมงคลและอ่านเส้นสายจากลายเซ็น” ซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่มาก แต่ไม่มีใครสนใจมาก่อน ผมนำวิชานี้มาเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่โผล่มาใหม่ๆ ในวงการโหรก็ไม่รับเรื่องนี้อยู่ในวิชาโหรหรือหมอดูนะครับ เพราะไม่มีการสอนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ผมก็ไม่ได้อนาทรนะครับ เพราะผมไม่เคยอ้างตัวว่าเป็น “หมอดู” มาก่อน แม้ว่าคำอธิบายทายทักเรื่องชื่อและลายเซ็นบางครั้งจะกระเดียดไปทาง “คาดว่า” เหมือนบรรดาหมอดูอยู่บ้างก็ตาม
ถ้างั้นจัดเรื่องชื่อและลายเซ็นอยู่ในศาสตร์ประเภทไหน หากให้ผมอธิบายตามที่ยึดถือมาก็คือ เรื่องชื่อและลายเซ็น เป็นการวิเคราะห์ถึงอุปนิสัยใจคอของเจ้าของชื่อและลายเซ็น รวมไปถึงอาชีพของคนคนนั้นครับ
การที่จะวิเคราะห์ได้ลึกอย่างนั้นต้องอาศัยตำราหลายเล่มประกอบกันครับ เล่มแรกคือ ตำราตั้งชื่อ ที่ผมมีอยู่และศึกษามาคือ ตำราชื่อว่า “ลิลิตทักษา พยากรณ์” ครับ แต่งโดย หลวงอรรถวาทีธรรมประวรรต นามเดิมท่านคือ อาจารย์วิเชียร จันทน์หอม มีความรู้ทางธรรมเป็นขั้นเปรียญมีความรู้ทางโลกถึงขั้นเนติบัณฑิต ดังนั้นสิ่งที่ท่านบันทึกจดจารไว้จึงไม่ธรรมดาแน่นอนครับ ใครอยากเป็นนักตั้งชื่อหรือวิเคาะห์ชื่อเก่งต้องหาเล่มนี้ให้พบ
ตำราเล่มนี้ตีพิมพ์โดยกรมศิลปากร เมื่อปี 2509 นับถึงปีนี้ก็ 40 กว่าปีแล้ว แต่การใช้ตำรานี้ผมไม่ได้นำมาใช้ทั้งดุ้นนะครับ เพราะท่านเขียนเป็นคำกลอนและยอกย้อนให้ต้องดีความทุกบรรทัดก็ว่าได้ หากไม่ “อึด” หรือไม่ “ทน” จริงๆ ผมคงลามือไปแล้ว นอกจากเล่มนี้ก็อาศัยเป็นครูพักลักจำ อาจารย์เสถียรพงษ์ วรรณปรก และ อาจารย์พัฒนา พัฒนศิริ ตามจังหวะและโอกาสครับ นั่นว่าเฉพาะเรื่อง “ชื่อ” นะครับ
ในส่วนของ “ลายเซ็น” ผมอาศัยจากหลายสำนักทั้งของไทย ของฝรั่ง ของญี่ปุ่น และของจีน และอีกหลายตำรา นำมาหลอมรวมกันเป็นตำราเฉพาะตัวที่ผมยึดถือเป็นคัมภีร์ที่เชื่อมั่นว่าฉมังอย่างยิ่ง
คุณ(พี่)สันติ เศวตวิมล อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารชีวิตต้องสู้รายสัปดาห์ ท่านเข้าใจผมดีที่สุดว่าผมไม่ใช่ “หมอดู” แต่ท่านเปิดคอลัมน์ ดูลายเซ็นเห็นชะตากรรม ให้ดูลายเซ็นให้นักการเมืองและนักธุรกิจ ตลอดจนนายทหารนายตำรวจ จนผมแทบไม่รู้จะตรวจอะไรให้ใครอีกแล้ว
คุณ(พี่)สันติ เคยเขียนเปรียบเทียบเรื่องลายเซ็นว่า “ลายเซ็นก็เหมือนแผ่นที่ชีวิต ที่สามารถบอกได้ว่าผู้ที่เซ็นนั้นเป็นคนอย่างไร ชอบไม่ชอบอะไร เชื่อและไม่เชื่ออะไร แล้วเขาก็จะเซ็นชือตามจินตนาการของเขาไป และสิ่งที่เขากระทำลงไปตามความเชื่อก็คือ...กรรม กรรมนั่นแหละครับ เป็นผู้กำหนดชีวิตเขา ผู้ที่เข้าใจอย่างคุณตะวันณา จึงสามารถตอบได้อธิบายได้”
ที่ขอพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง เหตุผลแรก เพราะพักหลังมี “หมอดู” ด้วยศาสตร์ใหม่ๆ ประเภท “มองตาก็รู้ใจ” โดยไม่ต้องอาศัยตำรับตำราอะไรเลย เยอะจริงๆ จึงอยากเขียนเตือนว่า “ทุกตำราต้องมีครู” ครับ อย่าคิดว่าแค่จัดห้องหับคูหาให้ดูน่าเลื่อมใสศรัทธา แต่งกายเหมือนเล่นละครไปฉากหนึ่ง จบแล้วจบกันนะครับ
ที่สำคัญคือ ต้องมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ไม่หลอกล่อ ล่อลวง หรือมดเท็จให้ผู้อื่นเข้าใจผิด หรือเดือดร้อนเพราะคำทำนาย เป็นใช้ได้ครับ อีกเหตุผลหนึ่งคือ จะได้หมดข้อคำถามซะทีว่า “ดูชื่อและลายเซ็นกับตะวันณา” แม่นไหม เพราะผมเบื่อที่จะตอบว่า... ผมไม่ใช่หมอดูเต็มทีแล้ว
"ตะวันณา"