ดวง

ตอบศัพท์ภาษาไทย

ตอบศัพท์ภาษาไทย

13 มิ.ย. 2552

ช่วงหลังๆ นี้ จดหมายที่มีมาถึงผม ไม่ใช่จดหมายที่สอบถาม ชื่อและลายเซ็น แต่เพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อนๆ เสียแล้วละครับ

  บางฉบับถามแต่ความหมายของชื่อที่มีอยู่แล้วอย่างเดียว บางฉบับให้ตรวจสอบชื่อของ “ลูก” ที่มีอาจารย์อื่นตั้งให้ ว่าแปลว่าอะไร บางฉบับเป็นจดหมายปรับทุกข์เรื่องส่วนตัว ที่บางเรื่องผมเห็นว่าคนอื่นไม่ควรล่วงรู้ ก็ตอบไปเป็นการส่วนตัว

 อย่างเรื่องการเลี้ยงลูกวัยรุ่นแล้วไม่เข้าใจกันระหว่างแม่ (เป็นส่วนใหญ่) กับลูกสาว เมื่อผมดูแล้วว่า เป็นปัญหาสังคมเล็กๆ แต่มีผลกระทบใหญ่มาก และไม่น่าเสียหายต่อเจ้าของจดหมาย ผมก็จะตอบในคอลัมน์ เผื่อแผ่ไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองคนอื่นๆ ได้รับรู้ไปด้วย

 นอกจากนั้น ยังมีจดหมายของแฟนรุ่นเยาว์สอบถามเกี่ยวกับความหมายของคำบางคำ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ลูกๆ หลานๆ เหล่านั้นอาจจะหาคำตอบได้จากพจนานุกรม หรือสอบถามครูอาจารย์ในโรงเรียนได้ แต่เมื่อให้เกียรติถามมาที่ผม ไฉนเลยผมจะเพิกเฉยไปเสียเล่า

 คนเกือบแก่ หรือคนแก่นี่มีนิสัยเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ชอบให้ลูกหลานถาม ครับ จะได้เล่าเรื่องราวต่างๆ แบบไม่น่าเกลียดน่ะ-ฮา บางเรื่องถามมาสั้นๆ คุณลุง คุณป้า ร่ายยาวซะจนคนถามฟุบหลับไปก็มี-ฮา(อีกที)

 ก่อนคุยเรื่องชื่อและลายเซ็นวันนี้ ขอตอบจดหมาย น.ส.พอใจ ฉายาสุรรณศร ที่ถามมาว่า “หนูเคยได้ยินแต่คำว่า “ศาสตราพิชาน” แต่เมื่อวันพุธที่ 10 มิถุนายนนี้ หนูเห็นคำว่า “ศาสตราเมธาจารย์” ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง จึงใคร่ขอความรู้จากอาจารย์ด้วยค่ะ

 อย่าว่าแต่หนูพอใจเลยนะ อา...เอ๊ย! ลุง ก็เพิ่งเคยเห็น เป็นคำถามจากหนูเหมือนกัน และเคยรู้แต่คำว่า “ศาสตราพิชาน” ว่า เป็นตำแหน่งเกียรติยศที่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่งตั้งให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในความรู้สาขาใดสาขาหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยตักกะศิลา เห็นว่า “ตะวันณา” มีความเชี่ยวชาญเรื่องลายเซ็น เพราะใช้ประกอบอาชีพหากินมานาน-ฮา ก็อาจจะยกย่องให้เป็น ศาสตราพิชานตะวันณา อะไรแบบนั้นแหละ

 ตำแหน่งเกียรติยศนี้ ใช้ได้ในรั้วมหาวิทยาลัยนะครับ ไม่ควรนำเอาไปใช้สะเปะสะปะ เหมือนบางคนได้รับแต่งตั้งเป็น ศาสตราพิชาน แล้วทะลึ่งไปใช้นำหน้าเป็นอักษรย่อว่า ศ โน่น ศ นี่ ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็น ศาสตราจารย์ จริงๆ

 ส่วนคำว่า ศาสตราเมธาจารย์ ที่หนูพอใจถามมา น่าจะเป็นตำแหน่งเกียรติยศเช่นเดียวกับ ศาตราพิชาน นั่นแหละครับ เพียงแต่ว่า ผู้แต่งตั้งตำแหน่งนี้ ไม่ใช่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่เป็นสถาบันประเภทกึ่งวิชาชีพวิชาการ อะไรประมาณนั้น เช่น สมมติว่า สมาคมนักอ่านนวนิยายแห่งประเทศไทย เห็นว่า นักเขียนคนหนึ่งเขียนหนังสือเก่งมาก ให้ทั้งความสนุกสนาน และให้ทั้งความรู้รอบตัว ก็น่าจะแต่งตั้งให้เป็น ศาสตราเมธาจารย์ ก็ได้

 ปัญหามีอยู่ว่า ตำแหน่งเหล่านี้ เป็นที่ยอมรับในวงกว้างของสังคมหรือไม่เท่านั้น
 คำว่า ศาสตราพิชาน มาจากคำว่า ศาสตร์ แปลว่า ความรู้, พิชาน แปลว่า ความรับรู้ด้วยสิ่งเร้าหรืออารมณ์ แปลไทยเป็นไทยน่าจะได้ความว่า ผู้มีความรอบรู้ในสิ่งที่ตัวเองรู้ มั้ง

 ส่วนคำว่า ศาสตราเมธาจารย์ มาจากคำว่า ศาสตร์ แปลว่า ความรู้, เมธา แปลว่า ความฉลาดรอบคอบ, จารย์  ถ้าเป็นคำเดียวโดดๆ แปลว่า ผู้ที่เคยบวชเรียนมีความรู้ แต่จารย์ในคำนี้ น่าจะมาจาก อาจารย์ ที่แปลว่า ผู้สั่งสอนหรือผู้ให้ความรู้ ศาสตราเมธาจารย์ แปลไทยเป็นไทย ก็น่าจะแปลว่า “ผู้ให้ความรู้ที่ตัวเองรู้จากที่ได้เรียนรู้มา” นะครับ ผิดถูกประการใด ขอเชิญชวนท่านที่มีตำแหน่งเป็น ศาตราพิชาน และ ศาสตราเมธาจารย์ ช่วยด้วยครับ

 นั่งนับบรรทัดของเนื้อที่ที่เหลือแล้ว คงจะตอบจดหมายแฟนๆ ไม่ได้เสียแล้วละ เพราะเหลือน้อยเต็มที ตอบได้ 2-3 คน ดูจะไม่เหมาะนัก จึงขอเรียน อาจารย์วิโรจน์ สำรวล จากโรงเรียนเพิ่มวิทยา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซะด้วยเลยว่า ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์ มูลค่า 200 บาท ที่อาจารย์ใส่ซองส่งมาให้ตั้งแต่วันที่ 2 เดือน 4 ปี 2552 นั้น ผมได้รับแล้วครับ จะนำไปขึ้นเป็นเงินสด เพื่อสมทบเป็นค่าอาหารแมวที่เลี้ยงอยู่ต่อไปครับ ขอขอบคุณอาจารย์มา ณ โอกาสนี้ครับ เสาร์หน้าสัญญาว่า จะตอบจดหมายแฟนล้วนๆ ครับ

 ขอให้ทุกท่านโชคดีในวันที่ 16 มิถุนายนนี้นะครับ


"ตะวันณา"