
พระโอวาทปาฏิโมกข์
ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สังคมโลก คือ ผู้อยู่ร่วมกันในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ร่วมกันในสังคมประเทศชาติไทยของเราในทุกวันนี้ แม้จะมีความเจริญทางเทคโนโลยีอันช่วยให้สามารถผลิตวัตถุและบริการสนองความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้นและมากขึ้นก็ตาม แต่ก
ทั้งนี้เพราะมีเหตุปัจจัยอันเกิดจากทั้งภายในตนเองและจากทั้งภายนอกหลายประการ ที่ยังผลให้การดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลได้ถึงความสำเร็จและความเจริญ-สันติสุขในชีวิตบ้าง หรือให้ได้ประสบกับความเสื่อมหรือความล้มเหลวในชีวิต และต้องประสบกับความทุกข์เดือดร้อนบ้าง ไปตามส่วนแห่งเหตุปัจจัยนั้นๆ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสสอน “หลักธรรม” คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ดี กล่าวคือ ที่เป็นบุญกุศลควรแก่การปฏิบัติตาม เพื่อถึงความสำเร็จ-ความเจริญ และได้ถึงความสันติสุขในชีวิตอย่างถาวรมั่นคงได้ และได้ตรัสแสดงข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดี กล่าวคือ ที่เป็นบาปอกุศลที่ไม่ควรปฏิบัติ เพื่อจะได้ไม่หลงดำเนินชีวิตไปสู่ความเสื่อมเป็นโทษและเป็นความทุกข์เดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและทั้งแก่ผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในประเทศชาติและในสังคมโลก
“หลักธรรม” นั้น ดังที่ได้อาราธนามาแสดงไว้ในเบื้องต้นปาฐกถาธรรมนี้แล้ว เป็น “พระพุทโธวาท” ที่บูรพาจารย์ได้อนุโลมเรียกว่า “พระโอวาทปาฏิโมกข์” ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแก่พระพุทธสาวก ณ พระเวฬุวันหาวิหาร แคว้นมคธ เมื่อวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งตรงกับเดือนทางจันทรคติของไทย คือ เดือน ๓ นับเป็นเวลา ๙ เดือน ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอริยสัจธรรม และได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม คืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (ถึง พ.ศ.๒๕๕๓) เมื่อ ๒,๕๙๘ ปี ที่ผ่านมาแล้ว
“พระพุทโธวาท” หรือเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า “พระโอวาทปาฏิโมกข์” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พระภิกษุอริยสาวกในวันเพ็ญเดือน ๓ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ ให้สามารถสลัดตนออกจากทุกข์ทั้งปวงและเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
ดังที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ท่านได้แสดงแก่กุลบุตรผู้มาขอบรรพชาอุปสมบท ให้เข้าใจวัตถุประสงค์ แล้วให้เปล่งวาจาขอบรรพชาอุปสมบทต่อคณะสงฆ์ โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธานว่า
“สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย” ซึ่งมีความหมายว่า มาขอบวช “เพื่อสลัดตนออกจากทุกข์ทั้งปวง-เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง”
"พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)"