ข่าว

รัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์ของเนปาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกวันอาทิตย์ : รัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์ของเนปาล : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 
                     ราวกับพสุธาการเมืองพิโรธหนัก กระทืบบาทจนสะเทือนเลื่อนลั่นครั้งใหญ่อีกครั้งเล่นเอาประชาชีชาวเนปาลพากันสะดุ้งเฮือกเมื่อต้องพลีชีพบูชายัญการเมืองยกใหม่อีกร่วมครึ่งร้อย หลังจากรัฐสภาได้ลงมติอย่างพลิกความคาดหมายเมื่อวันพุธที่ 16 กันยายนนี้ ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินอีกครั้ง 
 
                     เปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแดนสวรรค์ของเหล่าทวยเทพของชาวฮินดูให้กลายเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยหรือสหพันธรัฐ พลันที่ประธานาธิบดีราม ภารัน ยาดาฟ ประกาศให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเป็นวันแรกตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายนนี้ เป็นต้นไป แทนที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองยาวนาน 1 ทศวรรษ เมื่อปี 2549 ซึ่งมีคนตายกว่า 1.7 หมื่นคน นำไปสู่การยกเลิกระบอบกษัตริย์ฮินดูที่ใช้มานานถึง 240 ปี ตามด้วยการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งและเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 6 คน
 
                     ส่วนสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 601 คน ก็จะกลายร่างเป็นสมาชิกรัฐสภาโดยอัตโนมัติ ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งยังไม่กำหนดว่าจะมีขึ้นเมื่อใด ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ หวั่นอาถรรพณ์รัฐธรรมนูญเลือด
 
                     กว่า 7 ปีที่การร่างรัฐธรมนูญฉบับใหม่ถูกลากจนกลายเป็นโรคเลื่อนถึง 4 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่มีคนตายเกือบ 9,000 ราย รัฐบาลหมายจะปลอบใจประชาชนให้คลายทุกข์คลายความหมองเศร้า จึงประกาศจะจับมือกับพรรคการเมืองทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านช่วยกันผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีความปรองดองของประเทศ จากนั้นได้เดินหน้ากระบวนการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา
 
 
รัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์ของเนปาล
 
 
                     แทนที่จะมัวแต่ทะเลาะกันเหมือนก่อน ถึงขนาดที่ส.ส.พรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน 30 พรรคนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์นิยมลัทธิเหมาอิสต์หวุดหวิดจะแปลงห้องประชุมเป็นเวทีมวยเมื่อต้นปีนี้ในช่วงวันสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการทุ่มเก้าอี้และไมโครโฟนใส่ประธานสภาด้วยความไม่พอใจที่เห็นพรรครัฐบาลพยายามลักไก่ผลักดันข้อเสนอต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ผ่านมติเห็นชอบจากพรรคฝ่ายค้าน
 
                     โดยข้อที่มีการถกเถียงมากที่สุดและเชื่อว่าจะเป็นชนวนของปัญหาไปอีกนานก็คือการจะยกระดับการปกครองอีกครั้งหลังจากได้เปลี่ยนระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นสาธารณรัฐเมื่อปี 2551 มาแล้วจนมาถึงก้าวสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยหรือสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐโดยสมบูรณ์อันประกอบด้วย 7 รัฐหรือ 7 แคว้น ที่แต่ละแคว้นจะมีรัฐสภาและมุขมนตรีของตัวเอง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ต้องการจะกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคต่างๆให้มากที่สุด หมายป้องกันไม่ให้อำนาจอยู่ในมือของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไปเหมือนในอดีต
 
                     แต่อาจจะด้วยความรีบเร่ง ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีจุดอ่อนจุดใหญ่จนแทนที่จะนำเสถียรภาพและความมั่นคงกลับคืนสู่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์นี้และสามารถผนึกรวมชนเผ่าต่างๆกว่า 100 เผ่าเข้าด้วยกันอย่างสนิทแน่นแฟ้น กลับกลายเป็นยิ่งขยายรอยร้าวขึ้นในหมู่ชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากขึ้น เมื่อได้ทิ้งภารกิจสำคัญในการขีดเส้นเขตแดนรอยต่อของแต่ละแคว้นให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแห่งชาติ ภายใต้เงื่อนไขว่าทุกแคว้นจะต้องมีเขตแดนติดกับอินเดียที่อยู่ทางใต้เพื่อให้ทุกแคว้นได้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการค้าขายชายแดนกับอินเดีย
 
                     ผลตามมาก็คือชนเผ่าหลายชนเผ่าโดยเฉพาะกลุ่มธารูในติกาปูร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้และมัธเทศี ทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้ พากันโวยวายว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ยอมฟังเสียงของพวกตนที่กังวลเรื่องการขีดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างแคว้นต่างๆ ที่จะต้องกำหนดให้ชัดเจน 
 
 
รัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์ของเนปาล
 
 
                     หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะขยายจำนวนรัฐให้มากกว่า 7 รัฐเพื่อให้แต่ละชนชาติกลุ่มน้อยได้ปกครองตนเอง ชนชาติกลุ่มน้อยใดที่มีประชากรมากก็จะมีดินแดนกว้างใหญ่ขึ้น นอกเหนือจากให้ชนชาติกลุ่มน้อยมีที่นั่งมากขึ้นในรัฐสภาและรัฐบาล ขณะที่ชนเผ่าบางชนเผ่าก็กลัวตกสำรวจไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ หรือถูกลืมเลือนจนชื่อหายไปจากประวัติศาสตร์ หรือถูกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
                     อีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากระหว่างการร่างก็คือเรื่องของศาสนา โดยชาวฮินดูซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในประเทศต้องการให้กำหนดชัดในรัฐธรรมนูญว่าศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ กลับตาลปัตรกลับข้อเรียกร้องของกลุ่มศาสนาอื่นๆ ที่ต้องการให้ระบุว่าเนปาลเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ส่วนพรรคสายกลางอย่างพรรคเนปาลีคองเกรสและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาลพยายามรอมชอมด้วยการให้ใช้คำว่า “เสรีภาพทางศาสนา” แทนคำว่า “รัฐฆราวาส” ซึ่งหมายถึงรัฐที่แยกจากศาสนา
 
                     ด้วยเหตุนี้แทนที่ประชาชนชาวเนปาลจะเฉลิมฉลองด้วยความดีใจที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเสียงท่วมท้นมากถึง 507 เสียงจาก 3 พรรคใหญ่ ประกอบด้วย พรรคเนปาลี คองเกรส พรรคเหมาอิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล คัดค้านแค่ 25 เสียงจากพรรคที่ยังยึดมั่นในสถาบันกษัตริย์และต้องการฟื้นฟูประเทศให้เป็นรัฐศาสนาฮินดู พลิกความคาดหมายโดยสิ้นเชิงของนักการเมือง 
 
                     นักวิเคราะห์รวมทั้งคนพื้นมืองชาวเนปาลเองที่เชื่อมั่นว่ารัฐสภาคงลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์นี้ ชาวเนปาลส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะชนเผ่าหลายชนเผ่าหลายพันคนจึงลุกฮือประท้วงด้วยการปิดถนนและผละงานประท้วง จุดไฟเผารถยนต์ ทางภาคตะวันตกของประเทศ จนทำให้บางพื้นที่กลายป็นอัมพาตมานานหลายสัปดาห์ ก่อนจะบานปลายกลายเป็นการปะทะกับตำรวจในที่สุด นับถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 40 รายในจำนวนนี้มีตำรวจรวมอยู่ด้วยกว่าสิบคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
 
 
 
อนาคตที่ยังไร้อนาคต
 
 
 
รัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์ของเนปาล
 
 
 
                     ผู้สันทัดกรณีหลายคนให้ความเห็นด้วยความวิตกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับอาถรรพณ์ เพราะเริ่มต้นจากการประท้วงและความชุลมุนวุ่นวายในรัฐสภา จนอาจนำไปสู่การประท้วงตามมาหรืออาจบานปลายกลายเป็นการเรียกร้องขอสิทธิปกครองหรืออาจถึงขั้นขอแยกเอกราชเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
 
                     โภฌ ราช โภคเรล อดีตกรรมการเลือกตั้งให้ความเห็นว่า “การรวบรัดและเร่งรีบในการผ่านรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้ง และความขมขื่นของผู้ที่คัดค้านร่าง อนาคตของเนปาลขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
 
                     อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศให้ความเห็นยืนยันว่าพร้อมจะจับเข่าคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพราะถือเป็นทางออกเพียงทางเดียวที่จะคลี่คลายปัญหาต่างๆ ไม่ให้ลุกลามออกไปมากกว่านี้ อันจะยิ่งส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแออยู่แล้วให้ยิ่งอ่อนแอมากขึ้น
 
 
รัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์ของเนปาล
 
 
                     ส่วนอดีตผู้ก่อการร้ายเหมาอิสต์บางคนที่เคยสู้กับทหารรัฐบาลมานานให้ความเห็นว่าเมื่อเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วก็รู้ว่าการรปฏิวัติคงยังไม่สิ้นสุดเพราะแม้ว่าจะล้มสถาบันกษัตริย์ได้แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการผ่องถ่ายอำนาจให้ไปอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริงเสียที
 
                     แม้ว่าในภาคการเมืองจะยังมีความเห็นขัดแย้งกัน แต่ในส่วนของสิทธิของประชาชนนั้น นักวิชาการหลายคนชี้ว่ามีความคืบหน้ามากขึ้นในประเด็นของเพศสภาพ อาทิ การรับรองสิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติ ปราศจากการถูกข่มขู่คุกคามหรือกระทำความรุนแรงใดๆ นับเป็นครั้งแรกที่มีการรับรองสิทธินี้ เช่นเดียวกับการถกเถียงในวรรคที่ว่าเด็กชาวเนปาลจะได้สัญชาติตามสัญชาติของผู้เป็นแม่ ซึ่งนักการเมืองหลายคนให้ความว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง
 
                     ท้ายที่สุด นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่อาจทำนายได้ว่าอนาคตของเนปาลจะเป็นเช่นใดหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ตราบใดที่ยังไร้เสถียรภาพทางการเมืองอยู่เช่นนี้ หรืออีกนัยหนึ่งเนปาลอาจจะยังไร้อนาคตไปอีกนานแม้จะเปลี่ยนการปกครองเป็นสหพันธรัฐแล้วก็ตาม
 
 
 
 
----------------------
 
(เปิดโลกวันอาทิตย์ : รัฐธรรมนูญฉบับอาถรรพณ์ของเนปาล : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ