แห่สวน ‘ป๋อ ณัฐวุฒิ’ ฉะเพลง คนจนมีสิทธิไหมคะ แล้วบทพระเอกข่มขืนนางเอกล่ะ?
หลัง ป๋อ ณัฐวุฒิ ออกมาโพสต์ รับไม่ได้ ไม่ตลก ฉะเพลง คนจนมีสิทธิไหมคะ หยาบคาย หยาบโลน แต่เจอกระแสตีกลับ แล้วบทพระเอกข่มขืนนางเอกล่ะ เลวร้ายกว่าหลายพันเท่า ไม่ออกมาติบ้าง
เป็นไวรัลเพลงที่กลับมาดังในรอบ 30 ปี ของวงหมอลำ ทิวลิป เอ็นเตอร์เทนเมนต์ สำหรับเพลงที่ดัดแปลงมาจากเพลง "สมองคนจน" โดยเพลงแปลงนั้นขับร้องโดย เดือนเพ็ญ เด่นดวง อดีตแชมป์ลำซิ่งงานกาชาด จ.กาฬสินธุ์ ประจำปี 2539 ที่ร้องว่า คนจนมีสิทธิไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มี...นะคะ
แต่หลังจากที้เพลงนี้กลับมาดัง ล่าสุด 11 กันยายน 2566 ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ พระเอกชื่อดัง ก็ออกโรงซัดเพลงนี้ว่า
"พยายามเข้าใจนะว่าผมอาจจะมาจากดาวดวงอื่น แต่ดันมีชีวิตมาจนถึงต้องอยู่อาศัยบนดาวดวงนี้ พยายามเข้าใจมาตลอด แต่หลายสิ่งที่รับไม่ได้จริง ๆ แล้วไม่ตลกด้วย คือ มีการร้องเพลง แล้วใส่คำว่า... (อวัยวะเพศหญิง-ชาย) ในเนื้อเพลง แล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องตลก ขบขัน ผมว่า มันหยาบคาย หยาบโลน ตื้นเขิน ไม่รับผิดชอบ และกังวลว่าเด็ก ๆ ในวัยที่ยังไม่พร้อมมาเปิดดูคลิปเพลงพวกนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็พูดกัน ใคร ๆ ก็ร้องกัน เราร้องบ้างดีกว่าสนุกดี ฮาดี เอาจริงดิ นี่เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไงกันครับ ผมไม่ได้โลกสวยนะ แต่ใครช่วยตอบผมที"
แต่กลายเป็นว่างานนี้ ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ กลับเจอกระแสตีกลับยับ โดยหลายคนมองว่า
"แล้วที่คุณเล่นละครตบตีแย่งผัวแย่งเมีย... เมียน้อย เมียหลวง มันดีมากเลยใช่ไหมเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ เลยเนอะ", "ถ้ากลัวว่าเด็ก ๆ เห็นหรือฟังแล้วมันเป็นสื่อตัวอย่างไม่ดี ก็ไม่ควรมีบทละครตบ ๆ จูบ ๆ ตบตีแย่งชิง เช่นกันเนอะ", "ละครไทยตบจูบ พระเอกข่มขืนนางเอก ท้องแบบไม่ตั้งตัว ไม่ผิด ผ่านไปกี่ปีพึ่งรู้นางเอกมีลูก หรือฉุดกระชากไปกระทำชำเรา หลาย ๆ เรื่อง ไม่ติบ้างละ มันก็เหมือน ๆ กันนั่นแหละ ขึ้นอยู่ผู้ปกครองดูแล"
ขณะที่นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ ถ้าคุณป๋อไม่เข้าใจ ผมจะอธิบายให้ฟัง
1. เพลงนี้ที่ติดหูและถูกใจโลกโซเชียลอย่างล้นหลาม แม้ร้องเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะเพลงได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้ผ่านไป 30 ปี แต่ความจริงนี้ก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย
2. เพลงนี้ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพด้วยนะ และความเหลื่อมล้ำนี้ ผ่านไป 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย
3. การที่นักร้องคือคุณเดือนเพ็ญหยิบท่อนนี้มาจากเพลงสมองคนจนของพลอยมาแปลงเล่นต่อ ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานอย่างเดียว แต่การแสดงนี้คือศิลปะการแสดงที่เป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ (weapons of the weak) หรือศิลปะของผู้อ่อนแอ (art of the weak) ลองนึกดูครับว่า ถ้ายุคนั้นหรือแม้แต่ยุคนี้ หากคนจนลุกขึ้นมาเดินขบวนชุมนุมประท้วงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็ย่อมถูกปราบปรามจากรัฐได้ง่าย หรืออาจนึกภาพว่าคนจนเดินไปหานายกฯ หรือข้าราชการระดับสูง แล้วถามว่า "คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ" คุณคิดว่าเขาจะฟังหรือ ?
ในสังคมไทย อาวุธหรือศิลปะของผู้อ่อนแอไม่ได้มีแค่หมอลำ แต่ยังมีในศิลปะการแสดงและประเพณีอย่างอื่น เช่นหนังตะลุง ขบวนแห่บั้งไฟ นิทานก้อม ฯลฯ สำหรับชาวบ้านชาวช่อง เขาถือว่าปกติ เช่น นายหนังตะลุงเดี่ยว เอาประยุทธ์มาล้ออย่างหนักเป็นที่ตลกขบขันของผู้ชม แต่ผู้มีอำนาจไม่มีสิทธิ์ที่จะโกรธเคือง ประเด็นท่อนเพลง "คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ …" จึงควรให้ความสำคัญกับสาระที่แท้จริง คือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศสถานะที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ และสาระตรงนี้ควรสะกิดต่อมความคิดแบบอนุรักษ์นิยมให้คิด มากกว่าภาษาที่หยาบโลน
คุณป๋อไม่ได้มาจากดาวดวงอื่นหรอกครับ คุณอยู่บนโลกใบเดียวกันนี่แหละ เพียงแต่คุณอยู่ในโลกของการแสดงอีกแบบที่คิดว่าดีกว่าคนอื่น ทั้งที่คุณเกิดและดังในยุคที่พระเอกละครไทยข่มขืนนางเอก ที่หากพิจารณาแล้ว มันเลวร้ายกว่าหยาบโลนหลายพันเท่า ซึ่งคุณป๋อควรออกมาแสดงจุดยืนว่ารับไม่ได้"