บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - สลึง

คมเคียวคมปากกา - สลึง

09 เม.ย. 2553

เขียนต้นฉบับวันจันทร์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓ แรม ๖ ค่ำ เดือนห้า

 โลกร้อนๆ  คนร้ายๆ  ภัยแล้งๆ...ร้อนจริงๆ ครับท่าน  กระทั่ง “ร้อนจริงๆ...ร้อนจริงๆ...”  กลายเป็นคำทักทายรายวันไปเสียแล้ว  ทำไงได้ล่ะ  ในเมื่อมันก็ร้อนจริงๆ  ไม่ได้ร้อนเล่นๆ  

 สักปลายปี ๒๕๕๑  ได้มีโอกาสไปนอนเล่นที่บ้าน ชาติ  กอบจิตติ แถวโคราช-สระบุรี-ลพบุรี  ตอนที่เขามีโรงเรียนเล็กๆ สำหรับผู้อยากเป็นนักเขียน  ความจริงมิได้ไปนอนเล่นกินเบียร์กินไวน์พี่เขาเปล่าๆ หรอก  ก็ไปทำงานให้พี่เขานั่นแหละ  ไปพูดคุยกับน้องๆ นักเรียนนักศึกษาเรื่องภาษาไทย

 ตอนนั้น  สถานการณ์ทางการเมืองก็ร้อนๆ เหมือนตอนนี้แหละ  ตึงๆ เครียดๆ กันแบบบุญคุณต้องทดแทน - แค้นต้องชำระ  ชนิดที่การพูดคุยกันเรื่องการเมืองในวงเหล้า  อาจมีสิทธิกลายเป็นเรื่องการวิวาท  ด้วยฝักฝ่ายอารมณ์ความเชื่อความคิดเริ่มชัดเจนขึ้น  หลายคนเริ่มเบื่อกับความยืดเยื้อเรื้อรังของสถานการณ์  แบบเบื่อและรำคาญทุกฝ่ายก็มี  แบบลุ้นๆ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็มี  กระทั่งสถานการณ์คล้ายว่าจบลงโล่งใจไปพักหนึ่ง  ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าข้ามมาถึงปีนี้  สถานการณ์ก็กลับมาร้อนๆ ตึงๆ เครียดๆ กันอีก  ด้วยฉากเวทีและตัวละครการแสดงที่สลับเปลี่ยนไป...แกนนำที่เป็นฝ่ายประท้วงรัฐบาลในตอนนี้  ส่วนหนึ่งก็คือคนที่เคยอยู่ในคณะรัฐบาลในตอนนั้น...จากท้องถนนสู่รัฐสภา...จากรัฐสภาสู่ท้องถนน...การชำระแค้นในนามการอ้างประชาชนยังคงดำเนินไป  ประชาธิปไตยแบบของใครของมันยังอธิบายไม่จบ  ความยุติธรรมแบบกูถูก - มึงผิดยังเป็นปริศนา...ประชาชนคืออะไร?  ประชาธิปไตยคืออะไร?  หรือประชาชนคือเหยื่ออันโอชะของนักเล่นการเมือง?  หรือประชาธิปไตยคือการมีเงินและมีอำนาจ?  เรื่องพรรค์นี้หลายฝ่ายแนะให้ทำใจ  ใช้สติ  ครองสัมปชัญญะ  อย่างน้อยก็ดูแลหัวใจตัวเองในศึกช้างสารอันจะต้องแหลกลาญแต่หญ้าแพรกให้เห็นๆ

 อีกอย่าง  ในวาทกรรมเท็จไม่เท็จ  โดยชนชั้นแกนนำที่กระตุ้นให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังกันนั้น  นอกจากยึดครองพื้นที่สื่อได้แล้ว  มันยังอาจยึดครองพื้นที่หัวใจเราด้วย  คำพูดที่น่ารังเกียจของบางคนอาจรุกรานเข้ามาในใจเราทุกเมื่อเชื่อวัน  เมื่อตกเป็นเหยื่อคำพูดแล้ว  เราก็อาจเถียง  เราก็อาจทุกข์  เราก็อาจทน  เราก็อาจทำ  อะไรต่อมิอะไรทั้งที่อาจควรและไม่ควร  ทั้งที่อาจยับยั้งชั่งใจและมิอาจยับยั้งชั่งใจ

 คนที่เคยเบื่อและรำคาญการชุมนุมตอนนั้น  ไม่คิดหรอกจะต้องมาเบื่อและรำคาญการชุมนุมตอนนี้  เออ...การเมืองประเทศนี้เป็นเช่นนี้ก็ได้เหมือนกัน  กลับหัวกลับหางไปหมด  รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน  ไพ่กติกาเดียวกัน  เพียงเปลี่ยนเจ้ามือและผู้เล่น  วงชักรวน  เล่นได้ก็ไชโย  พอเล่นเสียก็...เจ้ามือโกงหรือเปล่า?

 ที่ย้อนข้ามปีไปยังบ้านนักเขียนข้างต้น  ส่วนหนึ่งเพราะเราเคยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองกันในวงเหล้ามาบ้าง  โดยที่เขามีส่วนให้สติผมได้ไม่น้อย  การตั้งวงดื่มกินอย่างได้สตินั้น  เป็นศาสตร์และศิลป์สามัญที่ต้องเรียนรู้กัน  การเสพข่าวการเมืองร้อนๆ เช่นกัน  ใครจะสติแตกพูดพล่ามคลุ้มคลั่งไปแล้วก็เถอะ  สติของเราจะต้องได้รับการประกอบส่วนที่ดีเอาไว้  ระวังอย่า “อัมเวง” (หลงทาง) อย่าง “เวง” (ยาว) ไปกับอาการ “เหวง” ของใครต่อใคร  (ว่าเข้านั่น)  เอ้อ...ประชาชนที่รัก  สงสารตัวเองบ้าง  สงสารประเทศชาติด้วย... 

 ครับ  อยู่ๆ ก็พลิกอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง  ที่น้องโรงเรียนนักเขียนในครั้งนั้นนั่นแหละส่งมาให้  จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว  แต่เธอเรียกตัวเองว่า “เอ๋เองค่ะ”  หนังสือที่ส่งมาให้ชื่อเจียมเนื้อเจียมตัวว่า “สลึง”  เป็น “หนังสือเพลงเพื่อชีวิตสร้างสรรค์”  จัดทำโดย “กองทุนหนังสือสลึง”  มหาวิทยาลัยมหิดล   

 หนังสือเล่มเล็กกะทัดรัด  อัดแน่นด้วยคอร์ดกีตาร์และเนื้อเพลงนับร้อย  ตั้งแต่เพื่อชีวิตยุคเก่าถึงเพลงสร้างสรรค์แสวงหายุคปัจจุบัน  หลายเพลงที่อยู่ในประสบการณ์การฟังของเรา  เพลงเหล่านั้นก็ดูจะถูกนำมาชุมนุมไว้ทั้งหมด  ยังมีเพลงประจำมหาวิทยาลัยมหิดล  และบทกวีของหลายกวีมาแทรกแซมไว้ด้วย

 จะว่าไปแล้ว  เนื้อเพลงหลายเพลงเมื่อเฝ้าอ่านเงียบๆ  มันมีความเป็นบทกวีอย่างยิ่ง  สำหรับคนชอบบทกวีและบทเพลง  นี่ก็เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าเก็บไว้อ่านศึกษา  หรือใครที่ชอบเล่นดนตรีชอบร้องเพลง  เวลาไปเข้าค่ายออกค่ายที่ไหน  หากพกพาติดกระเป๋าเดินทางไปด้วย  การเดินทางก็น่าจะรื่นรมย์ขึ้นไม่น้อย

 แต่ก็นั่นแหละ  วันเวลาผ่านไป  ยุคสมัยผ่านไป  ฉากเวทีและตัวละครเปลี่ยนไป  ผมพบว่าศิลปินเจ้าของเพลง  หรือเจ้าของบทกวีทั้งหลายในหนังสือเล่มนี้  ต่างก็มีพื้นที่ทางการต่อสู้ใหม่ที่เป็นของตัวเอง

 คนเคยร้องเพลงเดียวกัน  คนเคยอยู่วงดนตรีเดียวกัน  คนเคยอยู่วงเหล้าเดียวกัน  ก็อาจไม่ได้ยืนเคียงกันอีกต่อไป  แม้ชื่อเสียงเรียงนามจะถูกเรียกขานเคียงข้างกันก็ตาม...ศุกร์หน้าว่าด้วย “สลึง” ต่อครับ!

"ไพวรินทร์ ขาวงาม"