
กุงกาดิน
กุงกาดิน:มองผ่านเลนส์คม โดย... นคร ศรีเพชร
เมื่อเอ่ยชื่อ กุงกาดิน คนรุ่นใหม่ๆ นี้ อาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าเอ่ยชื่อ ครู นคร ถนอมทรัพย์ แล้ว เชื่อว่าวันนี้ หลายคนคงรู้จักท่านมากขึ้นเพราะครูได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์และขับร้อง) ประจำปี 2554
ก่อนหน้านั้น อาจจะมีคนสับสนระหว่างครูนคร ถนอมทรัพย์ กับ ครูนคร มงคลายน (ล่วงลับไปแล้ว) เพราะชื่อเหมือนกัน ครูนคร มงคลายน จะโดดเด่นในผลงานเพลงที่เป็นเพลงแปลงหรือเพลงโฆษณาสนุกสนาน เพลงที่คุ้นหูกันคือเพลง โฆษณาถ่านไฟฉายตรากบ
ครูนคร ถนอมทรัพย์ ปัจจุบันอายุ 80 ปี ท่านเกิดปี 2475 ในช่วงที่ท่านอยู่กับวงจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล ครูก็มีผลงานเพลงที่เป็นเพลงแปลง และเพลงสนุกสนานเหมือนกัน สมัยนั้นคนร้องเพลงสนุกๆ ต้องมีเอกลักษณ์ประจำตัว ครูนครนำดินหม้อดำๆ มาทาที่ใบหน้าและทาปากสีขาว เหมือนอย่างนิโกร สมัยเป็นนักร้องครูร้องเพลงสากลด้วย จึงได้หาชื่อมาตั้งให้แปลกๆ ช่วงนั้นนักร้องชื่อ อาละดิน ครูเลยได้ ชื่อว่า กุงกาดิน
สมัยครูนครเป็นหนุ่มๆ ในช่วงยุค 1950 มีเพลงที่เรียกว่า ชิปมังค์ โดยใช้เครื่องอัดแผ่นเสียงอัดเสียงในความเร็วปกติ แล้วเร่งเสียงให้เป็นเสียงความเร็วที่สูงให้ผิดสปีด ทำให้เสียงเพลงถูกแบบให้เล็กแหลมเหมือนตัวการ์ตูน ฟังตลกขบขัน
ครูนครเป็นคนแรกๆในเมืองไทยที่ทำเพลงชิปมังค์ ออกมา เช่นเพลง เซียวบ๊ะจ่าง Witch docter และ I shall sing แต่ว่ากันว่า ครูนครท่านใช้เสียงจริงๆ ร้องไม่ได้ทำโดยใช้สปิดที่ปกติอย่างที่ฝรั่งทำกัน
ผลงานการประพันธ์เพลงที่โดดเด่นของครู นอกจากเพลงเกี่ยวกับสถาบันแล้ว มีเพลงรักหลายเพลงที่มีภาษางดงามนัก อาทิ ทำนบหัวใจ ขับร้องโดย รวงทอง ทองลั่นทม และ ตำนานรัก ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติทั้งคู่
อีกเพลงหนึ่งที่หลายคนประทับใจในภาษาที่สละสลวยคือ เพลง ปรัศนีหัวใจ ที่ สวลี ผกาพันธุ์ ขับร้อง บันทึกแผ่นเสียงเอาไว้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2516 ที่มีท่อนขึ้นต้นว่า
“บนความโศกศัลย์ของใจดวงหนึ่ง เป็นความสุขซึ้งของใจอีกดวง
บนความชอกช้ำฉันน้ำตาร่วง เป็นความชื่นทรวงสมปองของเธอ....”
ท่อนที่ครูใช้คำซ้ำๆ ได้อย่างลงตัว คือท่อนที่ว่า
“เป็นความผิดไหมที่ใจคิดซื่อ
เป็นความผิดหรือที่คอยสนอง
เป็นความผิดไหมที่ใจทุกห้อง
มอบเป็นเครื่องลองรักเล่นของเธอ....”
เป็นเพลงตัดพ้อต่อว่าผู้ชายหลายใจได้อย่างไพเราะและมีสิลปะมากที่สุดเพลงหนึ่งในวงการเลยทีเดียว
ครูนคร เคยดำรงตำแหน่งในสมาคมเกี่ยวกับดนตรีมากมาย เช่น นายกสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ปัจจุบันครูเป็นนายกสมาคมผู้สร้างสรรค์เพลง และได้เปิดสถาบันสอนร้องเพลง แต่งเพลง ในสโมสรนักเพลง ที่ลาดพร้าว ซอย 4ลูกศิษย์ลุกหามากมาย อาทิ นักร้องเสียงหวาน จิตติมา เจือใจ คนร้องเพลง ”ถ้าหัวใจมีปีก” นักแต่งเพลง ทวีพงษ์ มณีนิล (ล่วงลับไปแล้ว) คนเขียนเพลง ”หลักไม้เลื้อย” ให้จิตติมาร้องก็เป็นศิษย์สำนักครูตั้งแต่อดีต ศิษย์คนปัจจุบันที่มีผลงานการแต่งเพลงสร้างสรรค์หลายเพลง คือ ศรีสุภางค์ อินทร์ไทร เป็นผู้หญิงนักประพันธ์เพลงที่มีผลงานโดดเด่นไม่น้อย
ผลงานเพลงที่ครูนครประพันธ์ไว้และที่มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่เพลง "รักกันไว้เถิด" ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่สเสียงทองคำ ประจำปี พ.ศ. 2514
ตลอดเกือบทั้งชีวิตการทำงาน ครูนคร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการอนุรักษ์เพลงเก่า ทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง และเคยก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ จัดรายการวิทยุเพลงเก่า ราวๆ เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ครูนครเคยปรารภไว้ว่า อยากจะหาคนรุ่นใหม่มาช่วยสืบทอดการทำงานในแนวอนุรักษ์เพลงต่อจากครูบ้าง ไม่ทราบว่า จนถึงวันนี้ครูได้ปั้นลูกศิษย์ขึ้นมาได้หรือยัง เพราะหาได้ยากคนที่จะรักและทุ่มเทมากมายขนาดนี้
วันนี้ครูนครไม่ได้จัดรายการวิทยุแล้ว เพราะไม่มีผู้สนับสนุนรายการ แต่ยังคงไปจัดรายการในเคเบิลทีวี ชื่อ รายการกดกริ่ง ทางเอ็มวีนิวส์ ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เที่ยงคืน-ตีหนึ่ง ซึ่งถ้านับกับง่ายไม่สับสนก็คือ หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ กับเสาร์ เป็นรายการเพลงเก่าอมตะที่ครูถนัด
ครูนคร ถนอมทรัพย์ มีทายาท 6 คน มีเพียงอลิสา ถนอมทรัพย์ เพียงคนเดียวร้องเพลงได้ไพเราะ แต่ลุกชายของอลิสา ซึ่งเป็นหลายของครู คือ ปิยะบุตร ถนอมทรัพย์ ชื่อเล่น อาดัมส์ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนเซ็นต์คาเบียล ก็มีแววที่จะเจริญรอยตามปู ประกวดร้องเพลงแนวเฉลิมพระเกียรติชนะมาหลายเวที
เรื่องราวของครูนคร ถนอมทรัพย์ อาจจะมีคนรุ่นใหม่ที่รู้จักข้อมูลท่านไม่ละเอียดลึกซึ้งมากนัก คงจะได้รู้จักตัวตน ความสามารถและผลงานของครูมากขึ้น และครูนครคงได้ใช้โอกาสสำคัญนี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ ให้แก่ลูกศิษย์ในรุ่นต่อๆ ไป ตามเจตนารมณ์ของครูที่ทำงานเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดินมาโดยตลอด
...................
(หมายเหตุ กุงกาดิน:มองผ่านเลนส์คม โดย... นคร ศรีเพชร)