บันเทิง

คมเคียวคมปาากกา - พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง

คมเคียวคมปาากกา - พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง

10 มิ.ย. 2554

เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗

 วันดีคืนดีก็ได้ข่าวจาก สุมาลี  สุวรรณกร ประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน และ ผศ. ทรงวิทย์  พิมพะกรรณ์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งคุ้นเคยกันดีในสายศิลปวัฒนธรรม  บอกว่าถ้าว่างก็ให้ไปเที่ยวขอนแก่นเด้อ  เขามีงาน “โครงการมหกรรมสืบสานฮีตฮอยหมอลำ  เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา” ณ ศาลาประชาคม จังหวัดขอนแก่น  นัยว่าระดมหมอลำจากทั่วแคว้นแดนอีสาน

 ผมมีหรือจะไม่สนใจ  บังเอิญวันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน  แม่ของลูกชายติดธุระ  ไม่อย่างนั้นก็ขับรถกันไปแค่ ๓๐ กว่ากิโลเมตร  ผมจึงได้ความคิดจากเงื่อนไขพิเศษนี้  ลูกชายชอบไปส่งพ่อขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ  และเวลาไปไหนเห็นรถไฟแล่นผ่าน  เขาจะโบกไม้โบกมือให้ด้วยความสนุกสนาน  จึงบอกแม่เขาว่าขอพาลูกขึ้นรถไฟไปขอนแก่น  ลูกจะได้ผจญภัยเรียนรู้  แถมยังได้ไปดูหมอลำด้วย  แม้แม่เขาจะห่วง  แต่ก็ตกลงตามนั้น  พร้อมนัดกันว่าตอนเย็นจะขับรถไปรับ

 พานั่งรถสามล้อไปสถานีรถไฟ (นี่ก็ครั้งแรก)  ไปทันเที่ยวรถไฟพอดี  พอเขายื่นตั๋วให้ก็จะยื่นเงินให้  เขาบอก “ฟรีครับฟรี”  อ้าว...ไม่ได้ขึ้นรถไฟชั้น ๓ มานานมาก  เพิ่งรู้ว่าเขาไม่เก็บเงินนานแล้ว  ขึ้นรถไฟแล้วก็พยายามชี้ชวนดูสองข้างทาง  ป่าบ้าง  ทุ่งนาบ้าง  สะพานบ้าง  แม่น้ำชีบ้าง  สอนให้เขาระมัดระวังอันตรายต่างๆ เวลาอยู่บนรถไฟ  ตอนหนึ่งรถไฟจอด  เขาตะโกน “รถไฟน้ำมันหมด” คนหันมายิ้มกันใหญ่

 ถึงขอนแก่น  พาแวะกินไก่ย่างเขาสวนกวาง “แม่ระเบียบ”  ว่าจะชวนลูกกินบนรถไฟแต่กลับไม่มีขาย  กว่าจะไปถึงศาลาประชาคนก็เกือบเที่ยง  ได้ดูเขาแสดงลำโน่นลำนี่กลอนสองกลอน  ก่อนพักกินข้าวเที่ยง  ช่วงบ่ายมีการล้อมวงเสวนากลุ่มย่อย  ผมปล่อยลูกชายวิ่งเล่นตามประสา  เพราะเขาสนิทกับคนได้เร็ว  ใครว่างก็จะไปชวนเขาเล่นด้วยหมด  ตัวเองก็เดินบันทึกภาพ  และแอบฟังวงนั้นวงนี้เขาพูดคุยกัน

 หมอลำมากมายหลายหน้าหลายนาม  แบบผมไม่รู้จักหรือจำได้หมด  หลายคนมีชื่อมีเสียงที่เอ่ยแล้วต้องคุ้นหูกัน  ดูจากการแต่งกายแล้ว  คนส่วนใหญ่ในงานน่าจะเป็นหมอลำ หมอแคน  ทั้งชายและหญิง  ยิ่งกว่านั้นยังมีหนุ่มสาวในวัยนักเรียนนักศึกษา ที่แต่งกายตามแบบหมอลำรุ่นเยาว์ตามท้องถิ่นของตัวเอง

 ที่ผมได้รู้จักทักทายไหว้เคารพ ก็คือ คุณแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน  เคยพบเจอท่านมาก่อนแล้ว  และทุกครั้งลูกชายก็จะอยู่และได้สวัสดีคุณยายด้วย คุณยายฉวีวรรณผมขาวโพลน  รวบมวยไว้สวยงาม  หน้าตาสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส  แข็งแรง  อารมณ์ดี  วันนั้นเห็น คุณหน่อย สุมาลี สัมภาษณ์คุณแม่ฉวีวรรณให้โทรทัศน์ช่องเนชั่นฯ  จะออกรายการอะไร  ตอนไหน ผมจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว

 เท่าที่แอบดูๆ ฟังๆ  หมอลำหลายท่านแม้ดูสูงวัย  แต่ก็ดูสดใส  แข็งแรง  อารมณ์ดี  ได้ยินคนหนึ่งพูดประมาณว่า  หมอลำนี่แก่ยาก  เพราะได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดด้วยปฏิภาณ  ได้บริหารจิตใจ ได้แสดงออกซึ่งพรสวรรค์อันมีอยู่ในตัวเอง  แน่นอนพรแสวงก็ต้องมี  ต้นทุนทางสรีระและน้ำเสียงก็ต้องมี  ความเคารพกตัญญูในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมก็ต้องมี  ความเชื่อความศรัทธาในวิชาชีพก็ต้องมี  หมอลำนั้นเป็นวิชาชีพที่นอกจากจะเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวแล้ว  ยังเป็นการสื่อสารสร้างสรรค์ทางสังคมด้วย

 ผมไม่มีความรู้เรื่องหมอลำสักเท่าไหร่  แต่ชอบหมอลำตั้งแต่เล็กแต่น้อย  พบน้องนักข่าวคนหนึ่งซึ่งชอบทางกวี  เธอแปลกใจที่เห็นผมในงานหมอลำ  ไม่เห็นมีกวีสักหน่อย  ผมบอกนี่แหละงานกวีล่ะน้องเอ๋ย...

 ยังบังเอิญได้พบ นิวัติ  กองเพียร บรรณาธิการ “เพลงดนตรี”  มหาวิทยาลัยมหิดล  ตามด้วยลูกน้องฝ่ายศิลป์อย่าง จรูญ  กะการดี  ดูเหมือน ถนอม  ชาภักดี ก็ไป  แต่ไม่ได้เจอทักทายกัน  อีกคนหนึ่งที่ได้เจอคือเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ “มาซา”  เราคุ้นเคยกันสมัยอยู่กรุงเทพฯ  เขาเป็นคนญี่ปุ่นที่สนใจศึกษาศิลปวัฒนธรรมอีสาน  เข้าใจว่าบางทีเขารู้เรื่องพิณเรื่องแคนเรื่องลำมากกว่าคนอีสานจำนวนไม่น้อย

 สำหรับ “พี่นิวัติ”  เขาบอกว่าครั้งนี้จะเก็บข้อมูลเรื่องหมอลำทั้งหลาย  ไปทำ “เพลงดนตรี” ฉบับหมอลำโดยเฉพาะ  ซึ่งน่าติดตามไม่น้อยเลย...

 “พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง  ออกมาส่องจั่งมองเห็น  หมอลำแคนแดนอีสาน  จั่งแม่นคักแท้น้อน้อง”

 แผ่นพับแนะนำงาน  เพิ่นว่าจังซั่น...ศุกร์หน้า  สิพาติดตามหมอลำต่อ...เด้อ!

"ไพวรินทร์ ขาวงาม"