บันเทิง

ศิลปิน“ก๊อบปี้โชว์”งานเข้าโดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจากบริษัทแกรมมี่แจ้งจับ 2 หนุ่มก๊อบปี้ ที่แต่งตัวเลียนแบบเป็น พี สะเดิด ไผ่ พงศธร ไปแสดงคอนเสิร์ตตามงานต่างๆ ตลอด 2-3 ปี ที่ผ่านมา เมื่อไม่กี่วันมานี้ ล่าสุดทั้ง 2 หนุ่มได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและรอเจรจากับทางบริษัทแกรมมี่ว่าจะเอาอย่างไรต่อ

หากย้อนดูกำเนิดของเหล่า”ก๊อปปี้โชว์” อาทิ พี สะเดิด ไผ่ พงศธร แอ็ด คาราบาว อ่าง เถิดเทิง  อี๊ด วงฟลาย อี๊ด โปงลางสะออน  พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นผลิตผลจากช่วง ”ดันดารา” ของรายการตี10 ทางช่อง 3 นั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้ ”ก๊อบปี้โชว์” บูมมากในหมู่นักจัดงานต่างๆ คือค่าตัวของนักร้องที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว นักร้องบางคนนิยมทำโชว์พ่วงแดนเซอร์ทำให้มีค่าตัวเพิ่มขึ้น
เพราะค่ายเพลงยุคนี้รายได้ที่นอกเหนือจากการ ”ดาวโหลด” เพลงแล้ว “งานโชว์” คือสิ่งช่วยพยุงความอยู่รอดของค่ายได้อีกทางหนึ่ง

หลังๆ ค่าตัวของนักร้องดังหลายคนทะยานสูงขึ้นหลายเท่าตัว เจ้าภาพ วัดต่างๆ ที่เคยใช้บริการไม่สามารถจ้างนักร้องดังๆ เหล่านี้มาแสดงได้เหมือนก่อน ทำให้นักจัดงานหัวใส หยิบเอาความฟู่เฟื่องของกลุ่ม ”ก๊อบปี้โชว์” มาต่อยอด

“การเอาพวกก๊อบปี้โชว์ มาแสดงก็เป็นทางเลือกให้กับงานวัดต่างๆ โดยเฉพาะพวกบริษัทออกาไนท์ นักร้องดังๆบางทีคิวแน่นแต่เจ้าภาพอยากได้ ก็ต้องทำทุกวิถีทาง พวกก๊อบปี้โชว์ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ เพราะเวลาแสดงพวกนี้ร้องเหมือน แต่งตัวเหมือน คนดูเขาไม่สนใจแล้ว เขาได้ฟังเพลงที่ชอบก็พอ มันเลยกลายเป็นที่นิยมไป“เจ้าของบริษัทออแกไนเซอร์แห่งหนึ่งให้ทัศนคติ ซึ่งเมื่อถามถึงการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นแหล่งข่าวคนเดิม บอกอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่า

“ถามว่าละเมิดเพลงหรือเปล่าก็ยอมรับนะ เพราะเขาใช้ไปรับจ้างร้องตามงาน ผมว่าก็สามารถคุยกับทางเจ้าของสิทธิ์ได้ แต่ต้องดูอีกว่าจำนวนงานเขามากน้อยแค่ไหนเพราะถ้าเก็บมากก็ไม่ไหว ผมมองว่าปัญหามันมาจากค่าตัวนักร้องดังๆ ค่ายตั้งไว้สูงเกินไป เจ้าภาพถึงเลือกใช้บริการกลุ่มก๊อบปี้โชว์”

ทางด้านก็อปปี้โชว์อย่าง ชวภณ แสนเลิงเรื่อง ก๊อบปี้โชว์ของ ไผ่ พงศธร กล่าวว่า

”ทุกครั้งที่ทำการแสดง ผมก็บอกให้แฟนเพลงของ ไผ่ พงศธร ให้สนับสนุนผลงาน ที่เป็นของแท้ของนักร้องต้นฉบับ พร้อมทั้งขอบคุณค่ายเพลงด้วย เพราะถ้าไม่มีเขา ผมก็ไม่สามารถที่จะมาทำการแสดงลักษณะแบบนี้ได้ ผมร้องเพลงก๊อปปี้ ไผ่ พงศธร จริง แต่ผมไม่เคยแอบอ้างอย่างที่ถูกกล่าวหาเลย ผมก็ไม่ต่างจากนักร้องตามวงดนตรีทั่วๆ ไป ใช้ความสามารถที่มีอยู่หารายได้ แค่พอได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง” ชวภณกล่าว

อีกปัญหาหนึ่งที่มักพบเห็นตามเวทีที่ก๊อบปี้โชว์ไปแสดง คือป้ายคัทเอาท์ที่ผู้จัดงานจงใจเขียนเพื่อให้คนที่อ่านคิดว่าเป็นนักร้องตัวจริงมาแสดงซึ่งอาคม ก๊อบปี้โชว์ พี สะเดิด บอกว่า
“บางทีเจ้าของงานโทรมาหาผม ว่ามีลิขสิทธิ์ร้องเพลง ไผ่ หรือเปล่า ผมบอกว่าไม่มีครับ ร้องเพลงเลียนแบบเสียง ทำการแสดงก๊อปปี้มีความผิดด้วยหรือ ทุกครั้งที่ผมรับงานก็บอกเจ้าของงานชัดเจนทุกครั้ง ว่าเป็นนักร้อง ก๊อบปี้ พีสะเดิด ไม่ใช่ตัวจริง  เจ้าของงานขึ้นป้ายให้ถูกนะ  ซึ่งวันนั้นป้ายหน้างานก็เขียนว่า พีสะเดิด ก๊อบปี้ โชว์ และบนเวทีก็แจ้งไว้ชัดเจนแล้ว ถ้ามีการแอบอ้างดังข้อความที่กล่าวข้างต้น ผมจะไม่รับงานนั้นๆ เด็ดขาด“ อาคมกล่าว

จุดอ่อนของ ”ก๊อบปี้โชว์” อีกอย่างคือการแต่งกายเลียนแบบศิลปินคนนั้นๆ และการนำเพลงของนักร้องผู้นั้นมาขับร้องและแสดงต่อสาธารณชน โดยมีเงินค่าตอบแทน หรือบางครั้งเจ้าภาพก็เรียกเก็บเงินค่าเข้าชมอันเป็นการประกอบธุรกิจเพื่อการค้า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งไม่ต่างอะไรจากพวกแผ่นผีซีดีปลอม

ต่างจากก๊อปปี้โชว์ในยุคของไมเคิ่น ตั๋ง   เจเน็ต เขียว หรืออย่างนักร้องพันหน้าอย่าง ซ่าส์ หมาว้อ ที่ใช้ความสามารถเฉพาะตัวบวกพรสวรรค์ทางด้านการแสดงเข้ามาเป็นจุดขายและที่สำคัญ ก๊อบปี้โชว์ยุคนั้นขายความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เกาะเงานักร้องดังเหมือนสมัยนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ