บันเทิง

มองผ่านเลนส์คม - ไปเวียงแหง

มองผ่านเลนส์คม - ไปเวียงแหง

24 พ.ค. 2554

ประมาณ 21.30 น. คืนวันที่ 21 เมษายน 2554 รถตู้ที่ผมนั่งพร้อมคณะ 7 คน หนีฝนพรำๆ ออกจากปายไปตามถนน อ.ปาย-อ.แม่แตง ที่มืดมิด บางช่วงไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ นานๆ จะมีรถสวนสักคัน ไปถึงแม่แตงเกือบ 24.00 น.

  ทีแรกตั้งใจจะพักค้างที่เชียงดาว แต่รีสอร์ทเป้าหมายปิดประตู เลยกัดฟันบอกคณะว่าคืนนี้ไปนอนที่ อ.เวียงแหง กันเถอะ คนขับใจถึงตอบตกลง ผมไม่แน่ใจว่าเขาเลี้ยวซ้ายที่ตรงไหน ดูผ่านกระจกมีป้ายบอกไปเวียงแหง 52 กิโลเมตร ถนนไต่ขึ้นภูดอย เลี้ยวลดลงหุบเขา หักศอกตลอดเส้นทาง บนเส้นทางเปลี่ยวมีรถสวนทางเพียงคันเดียว รถตู้ถึงตัวเวียงแหงอันเป็นที่ราบกลางหุบเขาตอน 04.00 น.พอดี ขากลับบ่ายวันต่อมา พบว่าเราขึ้นลงภูดอยนับ 10 ลูก

 เวียงแหงเป็นชื่ออำเภอ สังกัดจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศเหนือ  เป็นอำเภอชายแดนติดกับพม่า  มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง 

 เช้าวันต่อมาผมได้รับเกียรติให้ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารเช้าแบบพื้นเมืองกับอาจารย์ชัยยง ไชยศรี อดีตศึกษานิเทศก์ อ.เวียงแหง ผู้ทุ่มเทศึกษาวิจัย เรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับเวียงแหง โดยการแนะนำของ พ.ต.ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ฝ่ายวิชาการสิ่งแวดล้อม ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

 อาจารย์ชัยยงศึกษาเรื่องพื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯ ซึ่งพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่าสวรรคตที่ "เมืองหลวง" ที่ตั้งระหว่างเมืองเชียงใหม่กับแม่น้ำสาละวินและเมืองนาย (ในพม่า) ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุชัดเจนว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ยกกองทัพ 20 ทัพมาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้งเสด็จมาถึง ‘เมืองแหน’ แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ประชวรเร็วพลันและสวรรคตที่นั่น

 สมัยเรียนมัธยมเราต่างรับรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองหาง แต่หลักฐานทางพม่ายืนยันว่า ‘เมืองแหน’ กับ ‘เมืองหัน (หาง)’ ไม่ใช่เมืองเดียวกัน ดังนั้น สถานที่สวรรคตจึงไม่ใช่เมืองหางแน่  ต่อมาสันนิษฐานว่าเมืองแหนในพงศาวดารพม่า คือ ‘เมืองแหง’ หรืออำเภอเวียงแหง อาศัยหลักฐานสนับสนุน เช่น เอกสารตำนานล้านนา เอกสารชาวตะวันตก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียงแหง

 หนังสือชื่อ ‘A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States’ โดย Holt S. Hallett วิศวกรสำรวจสร้างรถไฟผ่านเชียงใหม่ไปเมืองจีน ที่บันทึกการเดินทางผ่านแม่แตงกล่าวถึง ‘เมืองแหง’ ว่าเป็นเมืองโบราณและกำลังจะถูกลืม หลักฐานสำคัญทางนิรุกติศาสตร์โดยจิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ภาษาเขียนของพม่าว่าได้รับอิทธิพลจากมอญ เช่น ภาษาไทยคำว่า ‘เม็งราย’ พม่าจะเขียน ‘รามัญ’  คำว่า ‘หาง’ พม่าเขียน ‘หัน’ และ ‘แหง’ พม่าเขียน ‘แหน’
ดังนั้น ‘เมืองแหน’ กับ ‘เมืองแหง’ จึงเป็นเมืองเดียวกัน

 ในอนาคตเวียงแหงน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่ง ด้วยมีของดีทั้งภูเขา ลำธาร  อากาศ อาหารอร่อย ประเพณีของชาวจีน ชาวไทยใหญ่ และลีซอ

 ไปมาแล้วเวียงแหง

"จำลอง ฝั่งชลจิตร"