
คมเคียวคมปากกา - นต์รักเฟซบุ๊ก (๓)
เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖
ขณะลงมือเขียน “มนต์รักเฟซบุ๊ก” ละเลียดเรื่องราวเก่า - ใหม่ในโลก มีโทรศัพท์จาก จ้อ นินจา พี่ชายที่เคารพนับถือ ผู้รอบรู้เรื่องเพลงลูกทุ่ง ส่งข่าวการเสียชีวิตของ “ครูทินกร ทิพย์มาศ” เจ้าของบทประพันธ์เพลงจำนวนมากที่ประทับใจมิตรรักนักเพลงลูกทุ่ง ด้วยช่องทางที่สะดวกรวดเร็วอย่าง “เฟซบุ๊ก” ผมได้นำรูปครูทินกรพร้อมข้อมูลสั้นๆ “โพสต์” ลง ปรากฏมีผู้เข้ามาร่วมแสดงความอาลัยด้วยพอสมควร โดยบางคนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ล้วนติดหูติดปากติดใจมานานแล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่าท่านเป็นผู้ประพันธ์ เพิ่งมารู้ก็ตอนที่ผมเอ่ยตัวอย่างบทเพลงของท่านนั่นแหละ อาทิ...
ถ้า สายัณห์ สัญญา ก็ “ถึงชั่วก็รัก” (ถึงเธอจะผ่านผู้ชายร้อยพัน...) “เหนือคำสาบาน” (ประโยชน์อะไรกับสัญญา...) “ฝากใจไว้ที่เดือน” (โลกหนอทำไมถึงเป็นเช่นนี้...)
ถ้า ยอดรัก สลักใจ ก็ “อเวจีใจ” (ช้ำใจเสียบ้างก็ดีเหมือนกัน...”) “กำนัน กำใน” (เรือล่มในหนอง...” ฯลฯ หรือเพลงของ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง “บอกรักฝากใจ” (พี่เอารักมาฝาก...)
ผมมีหนังสือ “หัดแต่งเพลงโดยวิธีธรรมชาติ” โดย ๕ ครูเพลง สุรินทร์ ภาคศิริ, พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา, ทินกร ทิพย์มาศ, สัญญา จุฬาพร และ ถ. สุรภาพประดิษฐ์ ว่างๆ ก็หยิบมาอ่านหาข้อมูลความรู้ แม้ก่อน “โพสต์ลงเฟซบุ๊ก” ก็ตรวจสอบจากหนังสือเล่มนี้ “ทินกร ทิพย์มาศ” ในค่าว่า “ทิพย์” ของท่านจะมีการันต์ตรงตัว ย. ชื่อจริง “สุนทร ชื่นวิทยา” เกิดกลางท้องนา บางมูลนาก เมืองพิจิตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙
ท่านเขียนไว้ในหนังสือตอนหนึ่งว่าด้วยความเด่น ความดัง ความมีเสน่ห์ของ “ศิลปิน” ว่า “...ก็เป็นเรื่องแปลก บางคนดิ้นรนแทบตาย อยากจะเป็นนักแสดง อยากจะเป็นนักร้อง อยากจะเป็นนักแต่งเพลง แต่ดิ้นรนยังไงก็ไปไม่ถึง บางคนแทบไม่ต้องดิ้นรนอะไร โชคชะตาดลบันดาลให้ได้มาง่ายๆ ก็มี...” ทั้งนี้ท่านเชื่อว่า “...เหตุที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะความถนัดของคนเราไม่เท่ากัน ความถนัดที่ว่านี้ ถ้าจะเรียกว่า “พรสวรรค์” ก็น่าจะได้...เกิดมาในโลกนี้ โลกไม่ได้สร้างให้คนเรามีความถนัดเหมือนกันไปหมด...”
ครับ ถือโอกาสนี้ร่วมไว้อาลัย “ทินกร ทิพย์มาศ” ทั้งผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง “คม ชัด ลึก” และ “หน้าเฟซบุ๊กของผม” เชื่อว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบบทเพลงของท่าน ทั้งรู้ว่าท่านเป็นผู้แต่ง ขณะเดียวกัน ก็อาจมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบมาก่อนแล้ว แต่เพิ่งจะรู้ว่าใครเป็นผู้แต่งหลังท่านเสียชีวิต และอาจบันดาลใจให้ติดตามฟัง หรือศึกษาบทเพลงในแบบของท่าน เพลง “ฝากใจไว้ที่เดือน” ถามโลกถึงความไม่แน่นอน และท่อนแยกยังให้คุณค่าแก่เดือนดารา “มองดูเดือนที่เคลื่อนอยู่บนเวหา คล้ายดวงหน้าของเขาเฝ้ามองดูฉัน ถึงตัวห่างไกล แต่ใจเราไม่ห่างกัน สองเรานั้น ใจพบกันอยู่ที่ดวงเดือน...”
นั่นนะสิโลกวันนี้...“โลกโทรทัศน์” “โลกซีดี - วีซีดี” “โลกกล้องดิจิทัล” “โลกโทรศัพท์มือถือ” ”โลกไซเบอร์” “โลกทวิตเตอร์” “โลกเฟซบุ๊ก” ฯลฯ น่าจะยังมีผู้คนแบ่ง “เวลาและจิตใจ” เห็นคุณค่าความหมายของเดือนดาราอยู่บ้างกระมัง...หรือ “นัดพบกันที่ดวงเดือน” มัน “ช้า” และ “เชย” ไปเสียแล้ว
เล่าค้างไว้ครั้งที่แล้ว เท่าที่เข้ามาเคาะๆ “เฟซบุ๊ก” เกือบปีแบบ “เล่นๆ” ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไรนักนี่ (ส่วนใหญ่ “โพสต์” จิปาถะ บทกวีบ้าง ภาพบ้าง) ก็มีทั้งสิ่งที่ทำให้สนุกและเหน็ดหน่าย บางครั้งบางคนก็เข้ามาคาดหวังสูงว่าเราจะต้องเป็น “บุคคลสาธารณะ” ให้ตลอด เช่นขอ “add” มา รับเร็วก็กลายเป็นมั่ว รับช้าก็มีเสียงบ่นน้อยอกน้อยใจ บางทียังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นใคร ขอเป็นเพื่อนแบบไหนตอนไหน อยู่ๆ ก็ถูกผลักให้กลายเป็นคนผิดไปเสียได้ (๕๕๕) โดยเฉพาะช่องทางที่เรียกว่า “แชท” เป็นการเคาะคุยกันสดๆ แบบทันใจดี แต่ผมกลับไม่ค่อยมี “เวลาและอารมณ์” ตรงนี้สักเท่าไหร่ ยกเว้นคนคุ้นเคยหรือมีเรื่องงาน เมื่อมีคนทักสวัสดีเข้ามา จำต้องทำใจแข็ง หลายคนไม่แนะนำตัวเองเลยว่าเป็นใคร แถมยังถามเรื่องไม่ควรถาม ถามกระทั่งชื่อของผมแปลว่าอะไร? (ถ้าถามแห้งๆ ฝากไว้ส่วนตัว ก็พอตอบได้ครับ)
โอ...คนเราจะเป็นเพื่อนพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ใจร้อนใจเร็วไม่ได้ดอก...
เชื่อไหมครับ บางคนที่แรกๆ เข้ามา “ถูกใจ” มา “คอมเม้นต์” มา “ยินดีที่ได้เป็นเพื่อน” บางทีทักแบบรุกเข้ามาทุกวัน พอไม่ตอบ หลังๆ ก็เงียบหายไปเฉยๆ...ก็ทำให้ได้เรียนรู้ทำใจกับคนนั่นแหละครับ
ไม่เป็นไรดอกครับ... ผมเองยังไม่กล้าทำอย่างนี้กับใครเลย แม้จะแอบชื่นชมใครมากๆ ก็ตาม!
"ไพวรินทร์ ขาวงาม"