บันเทิง

คมเคียวคมปากกา-เพลงคนใช้แรงงาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ยังเป็นวันหยุดชดเชยวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเมื่อวานนี้ คงได้ฉลองกันเป็นที่สนุกสนานแล้ว เพราะบรรดานักร้องลูกทุ่งและคนจัดงานก็มีคอนเสิร์ตให้ดูกันทุกมุมเมือง

 ปีนี้โชคดีที่มีงานฟรีใหญ่ๆ ให้ได้ดูกัน และยังมีกิจกรรมพิเศษที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้พักผ่อนหย่อนใจกันฟรี น่าแปลกเหมือนกันที่งานของภาคเอกชนได้รับความสนใจมากกว่าที่กระทรวงแรงงานจัดขึ้นเสียอีก

 เพลงประจำวันแรงงานที่นึกถึงกันก็อย่างเพลง “ลูกจ้างอย่างเรา” ที่ดุสิต ดุริยศักดิ์ ขับร้อง ท่อนจบเขาว่า “...ชาตินี้มีแต่เพื่อนแท้ก็คือกำลัง หากสิ้นสิ่งนี้มีหวัง คงสิ้นคนจ้าง มีหวังตกงาน” ฟังดูหดหู่ และน่าสงสารเนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง

 ถ้าเป็นเพลงของผู้ใช้แรงงานผู้หญิง ก็จะนึกถึงเพลง “ฉันทนาที่รัก” ที่รักชาติ ศิริชัย ร้อง ครูสุชาติ เทียนทอง แต่ง โดยชื่อ ฉันทนา กลายมาเป็นคำเรียกที่หมายถึงสาวโรงงานทอผ้ากันไปแล้ว

 บางคนก็ชอบเพลงเก่าหน่อย ก็มีเพลงของแมน เนรมิต ชื่อ “ลูกจ้าง” แต่เพลงนี้ออกเป็นแนวกุ๊กกิ๊กประเภทหลงรักลูกสาวนายจ้าง “ขอรับใช้ใกล้เจ้านายไม่ห่าง ขอเคียงข้างกับนายจ้างจริงใจ ฝากชีวิตให้เป็นสิทธิ์ของนาย...” เรียกว่าทำทุกอย่างเพื่อความรักว่างั้น

 ถ้าเป็นยุคหลังๆ เพลงแนวนี้เราก็นึกถึงเพลง “ลูกสาวนายจ้าง” ที่ไมค์ ภิรมย์พร นักร้องขวัญใจคนใช้แรงงานขับร้อง

 ไมค์ร้องเพลงเกี่ยวกับชีวิตผู้ใช้แรงงานมากมายจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว และไม่ใช่มีเพลงประเภทรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างคนชั้นแรงงานเท่านั้น

 เพลง “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ในชุดแรกๆ ของเขาที่ขึ้นต้นมาก็ถามสะกิดใจกันเลยว่า “ตึกนี้สูงใหญ่ มือไผเล่าสร้าง...” ถือเป็นเพลงดีเด่นอีกเพลงหนึ่ง ที่สัก ลานไทร เป็นคนแต่ง แต่อาจจะไม่โด่งดังเท่ากับเพลง “ละครชีวิต” ที่ว่า “จากแดนอีสานบ้านเกิดเมืองนอน...” ที่วิเชษฐ ห่อกาญจนา แต่งไว้

 มีเพลงชื่อ “จากแม่มูลสู่เจ้าพระยา” ที่ เสรี รุ่งสว่าง กับ สิทธิพร สุนทรพจน์ เคยร้องไว้ แต่งโดย ธีระพันธ์ ชูพินิจ เป็นเพลงที่ดีเกี่ยวกับคนใช้แรงงานอีกเพลงหนึ่ง มีท่อนที่ต้องขีดเส้นใต้สองบรรทัดคือ

“กรรมกรแน่นอนไม่เคยตกต่ำ หลายคนเย้ยคำ ตกไม่ต่ำเพราะทำที่สูง...” ช่างคิดหาคำมาใส่ในท่อนแยกได้ชวนให้อมยิ้มเสียจริงๆ

 เพลงเกี่ยวกับกรรมกร ยังมีอีกหลายเพลงที่เป็นที่จดจำเช่น "กรรมกรวอนแฟน” ยอดรัก สลักใจ “อกหนุ่มกรรมกร” สุนารี ราชสีมา “กรรมกรสอนลูก” ร้องโดยนักร้องเสียงดีชื่อ นัดดา จันทร์ฉาย อยู่ในชุด “ชิมรัก ชิมรส” เพลงนี้เนื้อหาดีมาก และเคยได้รับรางวัลมาลัยทอง ปี 2543 จากคลื่นวิทยุลูกทุ่งเอฟเอ็มซึ่งเป็นปีแรกของการจัดการประกาศรางวัลมาลัยทองสำหรับคนลูกทุ่ง ในแง่รางวัลเพลงสร้างสรรค์อีกด้วย แต่ข้อมูลเรื่องคนแต่งเพลงและตัวนักร้องหาริบหรี่เต็มทน ตัวเพลงก็หาซื้อหาฟังยากเพราะค่ายเพลงที่ทำปิดตัวไปนานแล้ว

 ใครที่อยากฟังเพลงนี้ ก็พอหาดูและฟังจากเว็บไซต์ยูทูบ ที่มีนักร้องสมัครเล่นนำเพลงนี้ไปร้องประกวดในรายการชิงช้าสวรรค์

 เพลงรุ่นใหม่ๆ ก็มีการกล่าวถึงชีวิตหนุ่มสาวโรงงาน และคนทำงานระดับกรรมกรมากมาย โดยเฉพาะเพลงในค่ายแกรมมี่โกลด์ นักร้องเกือบทุกคนจะมีเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนใช้แรงงานทั้งสิ้น

 และเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งรุ่นใหม่ๆ ก็สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ที่มีโทรศัพท์มือถือและไม่ได้ฟังวิทยุทรานซิสเตอร์แบบดั้งเดิมเสียแล้ว

 สาวโรงงาน และผู้ใช้แรงงานรุ่นใหม่นี้ มีความสามารถในการดาวน์โหลดเพลงและส่งข้อความเอสเอ็มเอสไปในรายการวิทยุ ค่ายเพลงก็มักมีการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตเพื่อกลุ่มคนใช้แรงงานกันบ่อยๆ และกลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่สำคัญของคนทำคลื่นวิทยุลูกทุ่งเวลานี้อีกด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ