บันเทิง

ศพไม่เงียบ
Mindfulness and Murder

ศพไม่เงียบ Mindfulness and Murder

28 เม.ย. 2554

หนังสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ (Suspense Thriller) เรียกว่า มีน้อยเต็มทีครับ และที่ถือเป็น ‘หนังดี’ ด้วยนั้น ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ล่าสุดเห็นจะเป็นเมื่อสองปีก่อนคือเรื่อง “เฉือน” จนมาถึงต้นปีนี้ หนังอย่าง “ศพไม่เงียบ” อยู่ในข่ายหนังสืบสวนสอบสวนที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง

 ความน่าสนใจของ “ศพไม่เงียบ” ไม่เพียงแค่พล็อตหนังจะผูกปม และวางลำดับการคลี่คลายของเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้อย่างน่าติดตาม หนังยังทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด หนำซ้ำยังให้ภาพบริบทรายล้อมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง อันสะท้อนได้ถึงความเป็นไทยร่วมสมัยได้อย่างสมจริงที่สุด แต่ที่น่าชื่นชมไปกว่านั้นคือสร้างภาพของตัวละครในแบบที่แทบไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนกล้าทำมาก่อน คือการให้ ‘พระ’ มาเป็นตัวเอก ทำหน้าที่ ‘นักสืบ’ ออกไล่ล่าหาความจริงในคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในวัด หลังตำรวจไม่สนใจไยดีโดยบอกแค่ว่าไม่มีเวลาและเป็นเพียงแค่เด็กขี้ยาที่ถูกฆ่าตาย (หนังไม่ได้แค่นำเสนอภาพตำรวจสันหลังยาวนายนี้อย่างแกนๆ หากแต่ให้มิติที่น่าสนใจ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องแล้ว)

  แต่เพราะไม่ใช่แค่ ‘เด็กขี้ยา’ คนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เจ้า ‘น้อย’ เป็นเด็กในโครงการช่วยเหลือเด็กจรจัดไร้บ้านของวัด ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากนายตำรวจใหญ่ เมื่อเกิดเรื่องฆ่ากันตายในวัด เจ้าอาวาสก็เกรงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงไหว้วานให้ ‘พระอนันดา’ อดีตนายตำรวจผู้หันเหชีวิตเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ (ซึ่งหนังก็เฉลยในตอนท้ายว่า ทำไม จึงเปลี่ยนทางเดินชีวิตเช่นนี้)

 หนังทำได้ดีมากในการสร้างบรรยากาศอึมครึมขมุกขมัว ผนวกกับตัวละครที่คลุมเครือไม่น่าไว้วางใจ แต่น่าเสียดายที่บทหนังคมคายไม่พอ  

 หนังเปิดเรื่องมาค่อนข้างดีทีเดียว จากนั้นก็ไล่ปะติดปะต่อเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ ตามด้วยผูกปม สร้างเงื่อนไขต่างๆ นานาให้ตัวละครคอยไขปัญหาได้อย่างน่าติดตาม เรียกว่าหนังทำได้สนุกเกินมาตรฐานหนังไทยในแนวนี้ด้วยซ้ำ เสียดายเมื่อหนังเดินทางมาถึงฉากสุดท้าย ที่ต้องเฉลยว่าใครคือฆาตกร หนังกลับให้พระอนันดาคิดหาทางออก และได้คำตอบง่ายๆ ว่า ฆาตกรเป็นใคร เงื่อนปมมากมายก่อนหน้านี้ที่หนังขมวดเอาไว้ กลับถูกละเลย จนไม่สามารถโน้มน้าวให้น่าเชื่อถือได้พอ

 แต่นั่นเป็นเพียงข้อบกพร่องเล็กน้อยเท่านั้นครับ เพราะความโดดเด่นและยอดเยี่ยมในหนังมีให้เราเห็นและรู้สึกได้มากมาย ความเก่งและกล้าของผู้กำกับอีกประการก็คือ การสร้างและให้ภาพคาแรกเตอร์ตัวละครนำที่แตกต่าง บท ‘พระอนันดา’ หนังกล้าที่จะใช้นักแสดงโนเนมอย่าง วิทยา ปานศรีงาม แต่ทว่าบุคลิกภาพ ลักษณะรูปร่างหน้าตา ที่ดูเหมือนคนที่เต็มไปด้วยความสุขุม ลุ่มลึก อาการสำรวมของเพศบรรพชิตที่แสดงออกแต่น้อย แต่กลับสามารถถ่ายทอดให้เราได้เห็นถึงความช่างคิดช่างสังเกต ก็ทำได้เยี่ยมยอดไม่แพ้มืออาชีพ ไม่นับรวมความเก๋าของคุณลุงสีเทา กับบทเจ้าอาวาส ไม่น่าเชื่อว่าชายชราอายุกว่า 79 ปีท่านนี้ ยังฝากการแสดงชั้นเยี่ยมให้เราได้ชมเป็นบุญตา ไม่แปลกที่นักแสดงอาวุโสท่านนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดง ‘ชั้นครู’ ที่ดารารุ่นหลังควรศึกษาและเอาเยี่ยงอย่าง

 วิธีรักษาน้ำหนักการแสดงอย่างสมดุลจนทำให้เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า พระรูปนี้ ‘ดี’ หรือ ‘เลว’ เป็นพระที่เห็นแก่พุทธพาณิชย์รับแต่กิจนิมนต์ ใช้ความศรัทธาของประชาชนสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเอง หรือเป็นพระผู้ใหญ่ที่ออกทวงถามความเป็นธรรมให้คนตาย แม้ถูกมองว่านี่คือการ ‘รักษาหน้า’ ของวัดก็ตาม สองฉากที่ท่านฝากฝีมือไว้อย่างยอดเยี่ยมคือ ฉากรับปัจจัยของชาวบ้านที่นำมาถวายเพราะอยากรวย และฉากที่เรียกประชุมพระลูกวัดเพื่อให้หลวงพ่ออนันดาทำการสอบสวน เป็นการแสดงที่ให้มิติของความเป็นมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

 สีน้ำตาลแก่ ขมุกขมัว โทนสีที่ปรากฏอยู่ในหนังตลอดทั้งเรื่อง สื่อถึงความเก่าแก่ของพุทธศาสนาที่จรรโลงอยู่บนโลกใบนี้มานานกว่า 2,500 ปี ที่แนวคิดคำสอนไม่เคยผุกร่อนไปตามจิตใจผู้คนที่อาศัยร่มเงาใบบุญแอบหาผลประโยชน์ หนังถูกมองด้วยสายตาชาวตะวันตก โดยเฉพาะด้านมืดของความเป็นเมืองอันเต็มไปด้วยหญิง-ชายขายบริการและยาเสพติด โดยมีวัดเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมือง และพระภิกษุคือตัวแทนความเชื่อศรัทธาของคนไทย

 หนังนำเสนอภาพของพระและฆราวาส ในฐานะ ‘มนุษย์’ ที่ต่างมีดีชั่วคละเคล้าปะปน หากแต่บ่งบอกถึงแก่นแกนของเรื่องได้อย่างลงตัวเมื่อนำพุทธวจนะ มาใส่ในหนังในฉากเปิดและปิดเรื่อง อันว่าด้วยความมั่นคงของการทำกรรมดี ซึ่งเป็นหลักยึดสำคัญของทุกศาสนาบนโลกใบนี้

ชื่อเรื่อง : ศพไม่เงียบ Mindfulness and Murder
ผู้เขียนบท : นิค วิลกัส, วิทยา ปานศรีงาม
ผู้กำกับ : ทอม วอลเลอร์
นักแสดง : วิทยา ปานศรีงาม, สีเทา, อภิชาต ชูสกุล, ปริญญา อินทชัย, วรรณศักดิ์ ศิริหล้า, จีรนา สิริสิงห
เรตติ้ง : น.15+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 6 เมษายน 54
โรงภาพยนตร์ : เครือเมเจอร์ซิเนเพล็กซ์

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"