บันเทิง

ศิลป์แห่งแผ่นดิน - โบสถ์วัดโคกเดื่อ

ศิลป์แห่งแผ่นดิน - โบสถ์วัดโคกเดื่อ

26 เม.ย. 2554

ผมไปงานบวชลูกชายคนเล็กของเพื่อนรักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาที่ “บ้านวัยเยาว์” ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี

 วัดโคกเดื่อเป็นวัดเก่าแก่คู่หมู่บ้าน คู่ตำบล จนยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.2505
 อำเภอไพศาลี มีโบราณสถานยุคทวารวดีที่บ้านหนองไผ่ ตำบลสำโรงไชย และมีพระพุทธรูปเก่าแก่ยุคสุโขทัย (ตามสันนิษฐานของกรมศิลปากร) มีประวัติความเป็นมาว่า เมื่อแรกค้นพบมีพระพุทธรูปอยู่ 3 องค์ อยู่ในป่ารกท่ามกลางซากอิฐ  ต่อมาถูกขโมยไป 2 องค์ เหลือเพียงองค์เดียว ชาวบ้านเรียกขานว่า “หลวงพ่อดำ”

 ปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างโรงเรือน มีหลังคาคุ้มกันแดดฝน และกำลังออกแบบเตรียมก่อสร้างอาคารถาวรให้

 ตลาดไพศาลี ชาวบ้านเรียกตลาดโคกเดื่อ ส่วนวัดโคกเดื่อยังใช้นามเดิม สมัยเมื่อผมเรียนชั้นประถม โรงเรียนตั้งอยู่ในบริเวณวัด นามโรงเรียน “นิมิตศึกษา” ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรำลึกพระคุณ พระครูนิมิตพุทธิสาร หรือหลวงพ่อโอน ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

 โบสถ์วัดโคกเดื่อ สร้างขึ้นสมัยพระครูใบฎีกาโหมดเป็นสมภาร  เมื่อปี พ.ศ. 2466 ใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง 11,700 บาท โดยข้อมูลที่ผมกล่าวปรากฏเป็นอักษรอยู่ที่หน้าบันอุโบสถทั้งสองด้าน

 ความงดงามของอุโบสถแต่ละแห่งมิได้หมายถึงเพียงรูปทรง ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรม หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา เท่านั้น แต่ประกอบด้วยนามธรรม  ความรู้สึกของผู้คนที่ผ่านยุคสมัยมาพร้อมกัน

 ผมรู้สึกใจหายที่เห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทาง “รกตา” ของวัดที่ผมผูกพัน สระน้ำขนาด 12 ไร่ 2 งาน ถูกถมกลายเป็นที่ราบกว้าง ไว้ใช้จัด “ตลาดนัด”

 ศาลาเก่าเสาไม้ขนาดใหญ่ถูกแปลงสภาพอย่างผิดหลักการบูรณะ ทั้งไร้รสนิยมอย่างสิ้นเชิง
 เจดีย์เก่าด้านหน้าอุโบสถถูกก่อกำแพงกั้นทำเป็นสระน้ำรอบฐานสำหรับไว้ “ลอยกระทง” (เพราะสระน้ำถูกถมกลบไปแล้ว)

 ใช่จะฟื้นเรื่องหาความ แต่อยากพูดถึงเพื่อเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ขาดความรู้ ขาดสำนึกทางสังคม ขาดรสนิยมทางศิลปะ คิดอยากสร้างอะไรก็สร้าง อยากทำอะไรก็ทำ จนอดีตอันงดงามกลายเป็น “ทัศนอุจาดตา” เหมือนอย่างวัดทั่วประเทศเราในขณะนี้ ที่ทำลายคุณค่าอดีตทิ้งอย่างไม่รู้สึกรู้สา

 สระน้ำวัดโคกเดื่อ ครั้งเมื่อผมยังเด็ก ขุดขึ้นด้วยมือของประชาชน โดยมีหลวงพ่อเป็นศูนย์รวมพลังกายใจ สมัยนั้นไม่มีเครื่องจักรกลทันสมัย ชาวบ้านร่วมแรงขุดแหล่งน้ำด้วยมือ สระแห่งนี้คือประวัติศาสตรชุมชนที่ปรากฎให้เห็นด้วยตา

 สมภารในยุคแรกตั้งวัด จนถึงยุคหลวงพ่อโหมด หลวงพ่อโอน ผู้เป็นดั่งเทพเจ้าของชาวบ้านรุ่นปู่ย่าตายาย บัดนี้ไม่เหลือวัตถุพยาน ไม่เหลือสถาปัตยคารเป็นอนุสรณ์ กระทั่งต้นไม้ร่วมยุคก็ถูกตัดโค่น ผมกลับไปเยือน เห็นต้นฉำฉาหลงเหลืออยู่เพียงต้นเดียว

 ผมพูดเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว และคงไม่พูดถึงอีก ผมยอมรับกฎอนิจจัง...ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ผมเสียดาย หากวันใดวันหนึ่ง วัดโคกเดื่อจะมีอุโบสถหลังใหม่ ขอให้รักษาอุโบสถหลวงพ่อโหมดหลังนี้ไว้เถิดนะครับ รวมทั้งเจดีย์ที่ด้านหน้าด้วย

 อดีต คือรากฐานของปัจจุบันนะครับ

"ศักดิ์สิริ  มีสมสืบ"