
คมเคียวคมปากกา-บันทึกเพลงปะทะเขมร
อ่านข่าวเขมรรุกรานไทยแถบจังหวัดสุรินทร์แล้ว นึกถึงเพลง ยอมตายที่ตาพระยา ของครูชลธี ธารทอง ขึ้นมาตงิดๆ สายัณห์ สัญญา ขับร้องไว้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่ง "คม ชัด ลึก" ได้รายงานข่าวเบื้องหลังเพลงชิ้นนี้ไว้เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 โดยได้ลงเนื้อเพลงประกอบ
“เลือดและน้ำตาบ่าท่วมชายแดน
มันสร้างรอยแค้นแค้นเป็นหนักหนา
ชาวไทยโดนเชือดเลือดนองที่ตาพระยา
เด็กเล็กคนชรา เขมรมันฆ่าเหมือนปลาเหมือนปู
อยากร้องตะโกนให้ก้องโลกา
แผ่นดินแผ่นฟ้าโปรดจงมารับรู้
ไม่ยอมหนีหน้าถิ่นตาพระยาบ้านกู
จะให้ขุดเหวขุดรูหนีมันไปอยู่ที่ไหน
พ่อกูชื่อนเรศวรมหาราช
เคยเอาเลือดล้างพระบาทประวัติศาสตร์ยังจารึกไว้
ไอ้หลานพระยาละแวกที่มันแหกรั้วเข้าใน
เข่นฆ่าคนไทยมันหยามน้ำใจพ่อกู
เลือดและน้ำตาบ่าท่วมดวงใจ
สู้ไหวไม่ไหวสู้ไปเดี๋ยวมันก็รู้
ไม่ยอมหนีหน้าถิ่นตาพระยาบ้านกู
พี่น้องไทยจงคอยดูเราขอสู้ให้โลกบูชา”
ศิลปินแห่งชาติ ครูชลธี ธารทอง เล่าให้นักข่าวฟังว่า ม่านแต่งเพลงนี้ไว้ประมาณปี 2519-2520 เหตุเกิดที่ อ.ตาพระยา (จ.ปราจีนบุรี ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของ จ.สระแก้ว) เขมรเข้ามาฆ่าคนไทย ครูจึงแต่งเพลงนี้ขึ้นมา เพราะครูรักคนไทย หวงแหนประเทศไทย แต่เพลงนี้ กบว.ห้ามเปิดออกอากาศ เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนสัมพันธไมตรี
และเพลงนี้ถูกกล่าวหาว่าใช้คำรุนแรง (กู-มัน) แต่ที่ครูต้องใช้สรรพนามอย่างนั้น เพราะจะให้ใช้คำสุภาพกับข้าศึกหรือ ครูใช้คำสมัยพ่อขุนรามคำแหง ครูว่า "มันยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำไป อยากแสดงให้คนเขมรรู้ว่า มันทำเกินไป”
ครูเพลงเจ้าของลายมือเพลงเกี่ยวกับทหารมากมายที่สุด อาทิ เพลง “จดหมายจากแนวหน้า” เล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ตามที่ครูได้ค้นคว้ามาว่า
“ย้อนไปถึงเรื่องในประวัติศาสตร์ก็ยังกำแหง ตั้งแต่สมัยเรื่องพระยาละแวก จะไปกลัวเขาหาอะไร เพราะคนไทยเราเป็นเลือดนักสู้ ผมโกรธและน้อยใจมากที่เพลงถูกห้ามเปิดในสมัยนั้น ทางการไม่ให้ความสำคัญ ผมเขียนแทนใจคนไทยทุกคน ไม่ช้านี้ผมจะมีเพลงแนวนี้ออกมาอีก กรณีนี้กับสมัยก่อนมันต่างกัน ต้องสืบเสาะข้อมูลให้ดีก่อนเขียน ระดับผมเขียนเพลงไม่ให้ใครว่าได้ เพราะเพลงลูกทุ่ง คือบันทึกประวัติศาสตร์”
ครูเพลงสมัยก่อนท่านมีจิตสำนึกในเรื่องความรักชาติและพยายามสอดแทรกแนวคิดดีๆ เข้ามาในเพลงอย่างสม่ำเสมอ บทเพลงหลายเพลงจึงเป็นอมตะเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ได้มีอายุเพลงสั้นแค่ช่วงที่มีการโปรโมทเท่านั้น
สังเกตนักแต่งเพลงในช่วงหลังๆ มักจะแต่งเพลงตามใจตลาดเพื่อความอยู่รอด แต่ยังพอมีเพลงดีๆ อย่างปีที่ผ่านมา รางวัลคมชัดลึกอวอร์ด ก็ได้มอบรางวัลเพลงยอดเยี่ยมให้แก่ วสุ ห้าวหาญ นักแต่งเพลงที่เขียนเพลง "ทบ.2 ลูกอีสาน” เนื้อหาสื่อถึงเหตุการณ์บนเทือกเขาบูโด ให้ ไผ่ พงศธร ขับร้อง
นอกนั้นก็ยังไม่เห็นว่าจะมีเพลงบันทึกเหตุการณ์บ้านเมือง ล่าสุดมีเพลง ”กลับตาลปัตร“ ของ สนุ๊ก สิงห์มาตร อาร์สยาม ที่ตนแต่งใช้นามว่า ราชา ม้าแสนหก แต่งขึ้นบันทึกเรื่องราวทางสังคมที่เกิดขึ้นปัจจุบัน
ขอเป็นกำลังใจให้ทหารและชาวบ้านแถบที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน หวังว่า รัฐบาลคงจะมีวิธีการจัดการอย่างที่พูดแบบวัยรุ่นว่า จัดหนัก เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์บ้านเมืองเราจะถูกรุกรานซ้ำซากขึ้นมาอีก
เคียวจันทร์ คว้านใจ