
คมเคียวคมปากกา - 7 ทศวรรษลูกทุ่งไทย
20 มีนาคม 2554 มีคอนเสิร์ตใหญ่ของคนลูกทุ่งอีกครั้ง โดยกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นแม่งาน จัดคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ 7 ทศวรรษลูกทุ่งไทย น้อมใจถวายพระพร ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ประสานงานตัวจริงคือ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง นักร้องระดับตำนาน หรือ วันชัย โรจนวิชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์
ผมเห็นด้วยที่หน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนให้มีการจัดคอนเสิร์ตเพื่อคนลูกทุ่งทุกประการ หากจัดได้ทุกปียิ่งดี
มันจะได้เป็น "เวทีกลาง" ให้คนลูกทุ่งทั้งเก่าและใหม่ได้โชว์กันเต็มที่ เพราะทุกวันนี้ มีแต่ "เวทีลูกทุ่งขายสินค้า" หรือ "เวทีลูกทุ่งของค่ายเพลง"
แต่สิ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับถ้อยแถลงของ "สดใส" มากนักคือ การนำเอาคอนเสิร์ตหนนี้ไปเปรียบเทียบกับ "กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย"
ว่ากันว่า คณะกรรมการจัดงาน 7 ทศวรรษลูกทุ่งไทย จะมีการคัดเลือกเพลงและมอบรางวัลให้เหมือนตอนจัดคอนเสิร์ตกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย โดยจะแบ่งเพลงออกเป็น 3 ยุคคือ ยุคแรกที่เป็นรอยต่อระหว่าง "เพลงตลาด" กับ "เพลงลูกทุ่ง"
ยุคที่ 2 ทางผู้จัดได้อธิบายว่า เมื่อลูกทุ่งเริ่มซบเซา ก็มีเพลงที่ทำให้กระแสลูกทุ่งกลับมาคึกคัก หรือเป็นเพลงที่มียอดการจำหน่ายสูงสุดหรือเพลงที่มีความนิยมยาวนาน
ยุคที่ 3 จะเป็นลูกทุ่งมหาชน หรือเพลงที่ดังในปัจจุบัน "สดใส" ให้คำจำกัดความไว้ว่า
"ที่แน่ๆ ต้องเป็นเพลงที่มีความถูกต้องทางวัฒนธรรมและภาษา เนื้อหาสาระเป็นผลงานที่ส่งเสริมไม่ทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของเพลงลูกทุ่ง โดยมีคณะกรรมการที่จะคัดเลือกเพลงที่ได้รับความนิยมและมาตรฐาน”
ผมไม่ได้มีอคติกับคณะผู้จัดงาน แต่ความคิดที่ว่า จะฟื้นฟูเพลงลูกทุ่งด้วยการจัดมอบรางวัล ในวาระ 7 ทศวรรษลูกทุ่งไทย เป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด
แม้จะอ้างว่า การมอบรางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ทำให้คนในวงการลูกทุ่งมีความตื่นตัวแข่งขันการสร้างผลงานเพลง "ลูกทุ่งแท้" และส่งผลให้คนรุ่นใหม่หันมาร้องเพลงลูกทุ่งกันมากขึ้น
อย่าลืมนะครับ กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยจัดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เวลานั้นตลาดเพลงยังขายเทป ขายมิวสิกวิดีโอ และเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก จึงทำให้แฟนเพลงตื่นตาตื่นใจ
เหนืออื่นใด ลักษณะของความเป็น "ค่ายเพลง" ยังไม่เขม็งเกลียวเคี่ยวเหมือนทุกวันนี้ สังคมลูกทุ่งยังมีความเอื้ออาทรและให้ความร่วมมือกันตามประสาคนวงการเดียวกัน
ต่างจาก พ.ศ.นี้ มันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไลฟ์สไตล์การฟังเพลงของคนรุ่นใหม่ ก็ปรับเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่ได้แบ่งแยกว่า นั่นลูกทุ่งแท้ นี่ลูกทุ่งเทียม
เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวเร่งให้ "ศิลปิน" ทุกแขนงและทุกค่ายเพลงต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่คนลูกทุ่ง
การจัดคอนเสิร์ตลูกทุ่งรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ก็ทำไปเถิด แต่อย่าไปตั้งความหวังว่า ผลจากคอนเสิร์ตนี้จะทำให้วงการลูกทุ่งสะท้านสะเทือนเหมือนในอดีต
ฝันกลางวันเปล่าๆ ปลี้ๆ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี...คิดอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ดีกว่า ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น!!
"บรรณวัชร"