บันเทิง

คิดสวนทาง - ต้นทุนเสียโอกาส

คิดสวนทาง - ต้นทุนเสียโอกาส

08 มี.ค. 2554

วลีนี้ผมได้ยินเป็นครั้งแรกในวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เมื่อครั้งเข้าไปเรียนหลักสูตรปริญญาโท สำหรับผู้บริหาร ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เรียกว่า X-MBA ผมจบมาได้อย่างน่าหวาดเสียวเป็นรุ่นที่ 6

  ต้นทุนเสียโอกาส (Opportunity lost) นั้น ให้ความสำคัญกับเวลา ถือว่า "เวลา" เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งนั้น เราควรจะทำงานหรือสร้างผลผลิตไห้ได้มูลค่าสูงสุด ยกตัวอย่างในเวลาหนึ่งชั่วโมง ถ้าเราใช้ไปกับการอ่านหนังสือ เราก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้น แต่เวลานั้นเป็นเวลาช่วงบ่ายหลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จใหม่ๆ ปกติเราจะใช้เวลาช่วงนี้ในการแอบงีบ เพราะเป็นช่วงที่หนังตามันหนักมาก และก็เป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุขกับการนอนที่สุด

 ถ้าเราเลือกที่จะนอน ต้นทุนการเสียโอกาสของเราก็คือ ไม่ได้ความรู้เพิ่มเติมในช่วงเวลานั้น ถ้าเราเลือกที่จะอ่านหนังสือ ต้นทุนเสียโอกาสของเราคือ ต้องพลาดโอกาสที่จะได้นอนในช่วงที่ง่วงที่สุดและแสนที่จะมีความสุขไป ก็ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าจะยอมเสียอะไรไป โดยหลักการแล้วก็ต้องเลือกสิ่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ส่วนผมเลือกนอนอยู่แล้ว เพราะผมให้คุณค่ากับความสุขในการนอนมากกว่าคุณค่าของความสุขที่จะได้จากการอ่านหนังสือเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม!!

 เมื่อปลายอาทิตย์ก่อนได้ไปดูคอนเสิร์ต Guitar Fiesta ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมมา นับว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ดีมากๆ อีกคอนเสิร์ตหนึ่ง ผู้แสดงที่เป็นนักกีตาร์ทุกคนเป็นสุดยอดฝีมือในสไตล์การเล่นของตัวเอง โดยเฉพาะ Victor Monge Sarranito นักกีตาร์ฟลาแมงโก้ ชาวเสปน และ Martin Taylor นักกีตาร์แจ๊สชาวอังกฤษ

 Martin Taylor เล่นกีตาร์ตั้งแต่ 4 ขวบ ส่วน Victor ก็เริ่มเล่นกีตาร์ตั้งแต่เล็กเช่นกัน แต่ที่สำคัญคือ ทั้งสองท่านเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมดนตรีที่เป็นของตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลากับการเดินผิดทางหรือต้องแบ่งสมองแยกส่วนไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของดนตรีและกีตาร์ เมื่อหนทางถูกเตรียมไว้ให้แล้วจากมรดกทางวัฒนธรรม ทำให้เขาสามารถพัฒนาความสามารถไปได้ไกลถึงขีดสูงสุด ก็คือการเป็นนักกีตาร์ที่มีความสามารถอย่างเยี่ยมยอดเพียงไม่กี่คนในโลก และการที่เขามีความสามารถมากเช่นนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นมนุษย์วิเศษ เหมือนอย่างในวงการดนตรีป๊อปที่จะต้องพยายามสร้างให้ศิลปินของตนกลายเป็นผู้วิเศษไม่ใช่คนธรรมดา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ต่างๆ ให้วัยรุ่นต้องหลงใหล  

 ผมได้มีโอกาสคุยกับ Martin ก็พบว่า เขาเป็นคนนิสัยดีมากๆ สุภาพและเรียบร้อย เสียดายไม่มีโอกาสคุยกับ Victor เพราะหลังจากแสดงเสร็จก็รีบกลับโรงแรมเลย คงเหนื่อยและก็คงเป็นวันธรรมดาๆ วันหนึ่งของเขาทั้งๆ ได้รับการขอให้กลับมาเล่นใหม่ (Encore) ถึง 3 ครั้ง จนต้องใช้วิธีเปิดไฟในหอประชุม ผู้ชมถึงจะยอมเลิกรา

 ในชีวิตของผมก็ได้มีโอกาสสัมผัสและใกล้ชิดกับศิลปินฝีมือขั้นเทพมาแล้ว ก็คือ ครูบุญยงค์ เกตุคง และครูบุญยัง เกตุคง ท่านทั้งสองถือได้ว่ามีโอกาสพัฒนาความสามารถทางดนตรีมาในแบบสายตรง อยู่ในมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง พัฒนาจนกลายเป็นสุดยอดฝีมือในทางระนาดทั้งสองท่าน

 ลองคิดดูว่า ถ้าวัฒนธรรมทางดนตรีไทยเราเป็นที่นิยมของทั่วโลก ทั้งสองท่านก็จะอยู่ในระดับอินเตอร์ มีคนเชิญให้ไปแสดงตามที่ต่างๆ ทั่วโลก อัดแผ่นเสียงขายได้ทั่วโลก มีคนกรี๊ดกร๊าดตบมือเมื่อท่านได้ปล่อยลูกทีเด็ดออกไป เพราะทุกคนฟังกันรู้เรื่อง น่าเสียดายที่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เรามีมรดกทางวัฒนธรรมและดนตรีที่เป็นของเราเอง แต่เราก็ยังต้องเป็นทาสทางความคิดทางวัฒนธรรมของตะวันตกอยู่

 ณ วินาทีนี้ ผมมั่นใจว่ามีอัจฉริยะทางดนตรีไทยเกิดขึ้นอยู่ในหมู่บ้าน ในตำบล ในอำเภอไหนสักแห่งแน่ๆ แต่เด็กคนนี้จะมีโอกาสพัฒนาความสามารถไปจนถึงขีดสูงสุดได้หรือไม่ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงจะส่ายหน้า โอกาสนั้นมันยากเสียเหลือเกิน เพราะเขามีต้นทุนเสียโอกาสที่สูงมาก เอาแค่ความคิดที่ว่าดนตรีไทยเป็นเรื่องล้าสมัยก็ทำให้เขาไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้แล้ว

 ในยุคโลกาภิวัตน์และอินเทอร์เน็ตนี้ การที่จะมีโอกาสขึ้นไปยืนอยู่ในระดับที่เรียกว่าอินเตอร์ได้นั้น ต้องเริ่มกันตั้งแต่ยังเล็กๆ พัฒนาสายตรงไม่ให้มีเรื่องเสียเวลาระหว่างทางเตรียมความพร้อม ในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เขาเหล่านั้นเดินไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

 ถ้าใครมีโอกาสเจอะเจออัจฉริยะของเราที่ไหนก็ช่วยกันสนับสนุนให้โอกาส ไม่เช่นนั้นเด็กเหล่านั้นก็จะต้องขาดทุนย่อยยับเหมือนรุ่นพวกผมแน่ๆ

"จิรพรรณ อังศวานนท์"