
มองผ่านเลนส์คม-เพลงรัก-เพลงรบ
ตั้งแต่จำความได้ คำทายปริศนาที่ถูกนำมาเล่นกันบ่อยที่สุดคือ คำถามที่ว่า "สีอะไร ที่คนไทยเกลียด" คำตอบคือ "สีหนุ"
เนื่องจากเติบโตมาในยุคแบ่งเขาแบ่งเรา ยุคที่เราระทมขมขื่นกับการต้องสูญเสีย "ปราสาทพระวิหาร" ให้กัมพูชา เพราะคำตัดสินของศาลโลก
จึงต้องเล่นเกมทายปัญหาแบบว่า สะท้อนอารมณ์ชาตินิยม ซึ่งในความเป็นเด็ก ก็ไม่คิดอะไรมาก ผู้ใหญ่บอกเกลียดเขมร ก็เกลียด บอกไม่ชอบกษัตริย์สีหนุ ก็ไม่ชอบ
ราวปี 2513 เกิดรัฐประหารเงียบในพนมเปญ นายพลลอน นอล นายกรัฐมนตรี ก่อการยึดอำนาจกษัตริย์สีหนุสำเร็จ คนไทยเราตื่นเต้นยินดีที่เจ้าสีหนุสิ้นอำนาจ
สัมพันธภาพไทย-กัมพูชา ก็ดีวันดีคืน เพราะนายพลลอน นอล กับจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ล้วนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
หนังเขมรเรื่อง "งูเก็งกอง" ได้เข้ามาฉายในเมืองไทย และสร้างปรากฏการณ์ทำรายได้ลบสถิติหนังไทยเงินล้านอย่างเหลือเชื่อ
มีการเปิดให้เข้าชมปราสาทพระวิหารเป็นครั้งแรก หลังจากทางขึ้นถูกปิดตายมาตั้งแต่ศาลโลกพิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
วงการเพลงลูกทุ่งคึกคัก เมื่อเพลง "กัมพูชาที่รัก" ของ ภูษิต ภู่สว่าง ดังระเบิด จนต้องมีเพลงร้องแก้ "คอยพี่ที่กัมพูชา" ร้องโดย ยุพิน แพรทอง
หรือก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย ศรีไพร ลูกราชบุรี ศิษย์เอกครูสุรพล สมบัติเจริญ ก็อัดเสียงเพลง "รักข้ามแดน" และมอบให้ ละอองดาว โสธรบุญ ร้องแก้ "รักแท้จากกัมพูชา"
จริงๆ แล้ว เพลงลูกทุ่งไทยได้ทำหน้าที่ "บันทึกเหตุบ้านการเมือง" มาโดยตลอด
เพลงรักหวานชื่น กลายเป็นเพลงแห่งความชิงชัง เมื่อคอมมิวนิสต์เขมรแดงยึดพนมเปญ ขับไล่นายพลลอน นอล หนีตายมาอยู่เมืองไทย
ปี 2518-2520 สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อทหารเขมรแดงบุกเข้ามาถล่มบ้านสันรอชะงัน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ทำให้ราษฎรไทยเสียชีวิตไป 29 ศพ
ครูชลธี ธารทอง จึงแต่งเพลง "ยอมตายที่ตาพระยา" ให้ สายัณห์ สัญญา ร้องระบายความโกรธแค้น "ลูกหลานพระยาละแวก" ที่มาเข่นฆ่าคนไทย
พลันที่กองทัพเวียดนาม 14 กองพล กรีธาทัพเข้าโค่นล้ม "ระบอบเขมรแดง" สถานการณ์ชายแดนเบื้องบูรพาก็เปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่ง
ไทยเราต้องรับบท "พระเอก" คอยช่วยเหลือชาวเขมรอพยพ และกลุ่มนักรบกู้ชาติ (เขมรแดง-เขมรสีหนุ-เขมรซอน ซาน)
จากเพลงที่สะท้อนความเกลียดชังชื่อยอมตายที่ตาพระยา ก็กลายเป็นเพลงรักเพลงสงสารชาวเขมรที่ถูกเวียดนามรุกราน
เพลงนั้นคือ "ไอ้หนุ่ม ตชด." ร้องโดย เอกพจน์ วงศ์นาค ที่เดินเรื่องด้วยพระเอกนักรบไทยห่วงหาสาวเขมรผู้ลี้ภัยสงคราม มันเป็นเพลงรักกลางสนามรบอีกเพลงหนึ่ง ที่มีการทำซ้ำมากที่สุด
จากบทเพลงลูกทุ่งบอกเราว่า ตลอดเวลาสามสี่ทศวรรษ ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่เคยสิ้นเพลงรักและเพลงรบ
แคน สาริกา