
Shaolin
หลัง เฉินหลง กลับจากฮอลลีวู้ดสู่มาตุภูมิ เขามีหนังดีๆ เล่นหลายเรื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นหนังแอ็กชั่นดราม่า ที่ใช้ความสามารถทางการแสดงมากกว่าโชว์ลีลาการต่อสู้ ขณะที่ หลิวเต๋อหัว เป็นนักแสดงฮ่องกงคนเดียว ที่ยังไม่โกอินเตอร์ข้ามไปเล่นหนังในฮอลลีวู้ดตาม
หลิวเต๋อหัว อาจจะไม่โดดเด่นในเรื่องศิลปะการต่อสู้เช่นเดียวกับ ‘เฉินหลง’ หรือ ‘หลี่เหลียนเจี๋ย’ แต่ความสามารถทางการแสดง ที่ต้องบีบเค้นอารมณ์ หรือฉากดราม่าหนักๆ แล้วล่ะก็ ศักยภาพของเขามีอย่างล้นเหลือ ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านผลงานหนังหลายเรื่องในรอบหลายปี การนำ ‘หลิวเต๋อหัว’ มาประชันบทบาทคู่กับ ‘เฉินหลง’ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว สำหรับคอหนังที่ติดตามผลงานของนักแสดงทั้งสองมาโดยตลอด
‘หลิวเต๋อหัว’ เจอกับ ‘เฉินหลง’ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2533 ในหนังเรื่อง “Island of Fire” หรือ “ใหญ่ฟัดใหญ่” โดยฝ่ายหลังรับบทเป็นตำรวจปลอมตัวเป็นนักโทษเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่งเพื่อแฝงตัว เข้าไปในกลุ่มพ่อค้ายาเสพติด...20 ปีผ่านมา ทั้งคู่โคจรมาเจอกันอีกครั้งในหนังย้อนยุคที่เล่าถึงนายพลโฉด ที่กลับตัวกลับใจมาบวชเป็นพระในวัดเส้าหลิน หลังตกระกำลำบาก เพราะลูกน้องคนสนิททรยศหักหลังจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
เมื่อนักแสดงคนหนึ่งที่เก่งกาจกับบทดราม่าหนักๆ มาเจอกับดารานักบู๊ที่พยายามหันมาเอาดีทางการแสดง ผ่านเรื่องราวในหนังซึ่งว่าด้วยการต่อสู้ของเหล่าผู้รักความสันติแห่งวัดเส้าหลิน จึงดูเหมือนว่าหนังอย่าง “Shaolin” ที่ยังรักษาคอนเซ็ปต์ในการตั้งชื่อภาษาไทยได้อย่างคงเส้นคงวาว่า “เส้าหลินสองใหญ่” ที่มักมีคำว่า ‘ฟัด’ หรือ ‘ใหญ่’ สำหรับฉายาของหนังตระกูลนี้ที่มีดาราอย่าง ‘เฉินหลง’ หรือ ‘หลิวเต๋อหัว’ รับบทนำ (ถ้าเป็นหนังของโจวซิงฉือก็มักใช้คำว่า ‘คนเล็ก’ และถ้าหนังของ บรูซ วิลลิส ใช้ ‘คนอึด’)
แม้ตำนานการต่อสู้ของหลวงจีนแห่งวัดเส้าหลิน จะถูกสร้างเป็นหนังมาหลายครั้ง หลายเวอร์ชั่น แต่สำหรับ “Shaolin” เวอร์ชั่น 2010 นั้น หนังไม่ได้เดินตามรอยทางเก่าๆ ซะทีเดียว เพราะมีการเปลี่ยนฉากหลังและยุคสมัยที่ไม่ไกลจากปัจจุบันมากนัก อย่างน้อยน่าจะอยู่ในช่วงระยะเวลาร้อยกว่าปีก่อน (เมื่อพิจารณาจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และบรรยากาศทางการเมืองที่รายล้อมโดยรอบ)
ว่ากันตามจริง ไฮไลท์ของหนังไม่ได้อยู่ที่การประชันบทบาทกันระหว่าง ‘เฉินหลง’ กับ ‘หลิวเต๋อหัว’ ซะทีเดียว หากแต่การดำเนินเรื่องราวที่เข้มข้น มีหลากหลายรสชาติชวนให้ติดตามต่างหาก แม้ช่วงต้นเรื่อง “Shaolin” จะมาในแนวทางเก่าๆ ของหนังจีนยุคชอว์บราเดอร์ส อันว่าด้วยเรื่องของ ‘คุณธรรมน้ำมิตร’ ‘บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ’ แต่เมื่อหนังเดินทางมาถึงจุดพลิกผัน กลับเปลี่ยนไปให้ความสำคัญในประเด็นการ ‘ให้อภัย’ รู้จัก ‘ละ’ ‘วาง’ และสำนึกผิดต่อผลกรรม บาปบุญที่เคยก่อ ซึ่งถือเป็นหลักสอนสำคัญของศาสนาพุทธ (แม้วัดเส้าหลิน เป็น ‘พุทธ’ ในอีกนิกายก็ตาม)
แม้หนังชูจุดขายด้วยนักแสดงนำอย่าง ‘เฉินหลง’ กับ ‘หลิวเต๋อหัว’ และเปิดเรื่องด้วยการสลับคาแรกเตอร์อันโดดเด่นของแต่ละคน (เช่นให้ ‘หลิวเต๋อหัว’ โชว์คิวบู๊ วาดลวดลายการต่อสู้ต่างๆ นานา ส่วน ‘เฉินหลง’ เน้นบทสนทนาและมุกตลกเป็นหลัก) ก่อนจะสลับกลับมาสู่แนวถนัดของแต่ละคน (เราได้เห็น ‘เฉินหลง’ วาดลวดลายการต่อสู้ในเกือบท้ายเรื่อง ทว่า ‘หลิวเต๋อหัว’ โชว์ศักยภาพทางการแสดงชั้นยอด ตั้งแต่ 20 นาทีแรกของหนังแล้ว)
ผู้กำกับ ‘เบนนี่ ชาน’ พยายามแบ่งสรรและผสมผสานน้ำหนักการเล่าเรื่องระหว่างแอ็กชั่นมันๆ และดราม่าเข้มๆ เข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม แม้บทหนังจะไม่ค่อยลงตัวเท่าใดนัก แต่ด้วยตัวผู้กำกับที่ค่อนข้างแม่นยำกับ ‘Direction’ ของหนัง ดังนั้นเขาจึงสามารถกำหนด ‘Tempo’ หรือจังหวะจะโคนของหนังได้อย่างที่ต้องการ โดยสามารถเน้นย้ำ อารมณ์บางจุดบางช่วงให้คนดูรู้สึกสนุกอย่างต่อเนื่องในฉากแอ็กชั่น หรือขยี้อารมณ์จนน้ำตารื้นในฉากสะเทือนใจ
ใช่เพียงเชิดชูวีรบุรุษผู้กล้า หากแต่ “Shaolin” ยังจับประเด็นอันว่าด้วยการปกป้องการรุกรานจากชาติมหาอำนาจตะวันตก แม้หนังจะเปิดเรื่องด้วยศึกสงครามระหว่างแคว้น และคนในชาติลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันเองก็ตาม
หนังที่มุ่งเจาะตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วง 4-5 ปีให้หลังมานี้ มักเป็นหนังมหากาพย์ฟอร์มยักษ์ ตลบอบอวลด้วยบรรยากาศการรบราฆ่าฟันในสนามรบ ต่างฝ่ายต่างใช้กลยุทธ์ชั้นเชิงมุ่งเอาชนะคะคานกันและกัน แต่ในขณะเดียวกัน หนังหลายๆ เรื่องยังสะท้อนแง่มุมละเอียดโดยเฉพาะจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วย ‘Passion’ รัก โลภ โกรธ หลง ดี เลว ชั่ว ร้าย ปะปนกันไป และแน่นอนว่าหลายๆ เรื่อง ล้วนแฝงคติธรรมตามขนบหนังจีนโบราณไว้ครบครัน ไมว่าจะเป็นหนังอย่าง ‘Red Cliff’ (สามก๊ก), ‘Warlords’, ‘The Banquet’, ‘Little Big Soldier’, ‘The Myth’ ฯลฯ โดยมี “Shaolin” เตรียมออกเดินตามความสำเร็จของหนังเหล่านี้ในโอกาสต่อไป
ชื่อเรื่อง : Shaolin
ผู้เขียนบท : อลัน หยวน, ตัน ชวง
ผู้กำกับ : เบนนี่ ชาน
นักแสดง : หลิวเต๋อหัว, เซียะถิงฟง, เฉินหลง, ฟาน ปิงปิง
เรตติ้ง : น.15+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 27 มกราคม 2554
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"