บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - โรคเบื่อเพลงใหม่

คมเคียวคมปากกา - โรคเบื่อเพลงใหม่

19 ม.ค. 2554

พักหลังผมเป็นแฟนประจำของทีวีดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นช่องข่าว ช่องเพลง ช่องหนัง ช่องสารคดี ฯลฯ ดูไม่เลือก เรียกว่าฟรีทีวี 3 5 7 9 11 แค่กดรีโมทผ่านเท่านั้น

  เฉพาะช่องเพลง พอดูมากๆ ก็เกิดมีอาการแทรกซ้อนขึ้นมาคือ "โรคเบื่อเพลงใหม่"
 ทีวีดาวเทียมบ้านเรามีประมาณร้อยช่อง กว่าครึ่งเป็นช่องบันเทิงสลับขายสินค้า และมีประมาณ 10 ช่อง ก็ว่าด้วยเพลงลูกทุ่งทั้งใหม่และเก่า

 อยากฟังเพลงแกรมมี่กดไปที่ "แฟนทีวี" อยากฟังเพลงอาร์สยาม ก็กดไปที่ "สบายดี"
 อยากฟังเพลงค่ายกลางเก่ากลางใหม่ หรือค่ายใหม่ๆ มีให้เลือกหลายช่อง ทั้ง "ไทยไชโย" , "ฮิตสเตชั่น", "โอเคทีวี" , "ยิ้มทีวี"  และ "ไทยสเตชั่น"

 อยากฟังเพลงเอกชัย ศรีวิชัย ล้วนๆ ก็ช่อง "สวัสดีเซย์ไฮ" หรืออยากฟังเพลงค่ายโฟร์เอส คงต้องจูนหา "ฟาร์มแชนแนล" พอจะได้ดูเอ็มวีใหม่ๆบ้าง

 อยากฟังเพลงลูกทุ่งเก่า มีให้เลือกหลายช่องอาทิช่อง "40-50" , "ซูเปอร์เช็ง" และ "ลายไทย" (เคเอ็มแชนแนล)  ทีวีดาวเทียมประเภท "ช่องขายสินค้าขายตรง" มักจะเอาเพลงลูกทุ่ง และเพลงเพื่อชีวิตไปเปิดคั่นรายการอยู่บ่อยๆ ฉะนั้นช่องทางเผยแพร่เพลง มันจึงมีมากมายเหลือเกินในวันนี้

 เทียบกับสมัยก่อน ค่ายเพลงต่างๆต้องแย่งกัน "ซื้อเวลา" ทางช่องฟรีทีวี ที่มีค่อนข้างจำกัด แถมต้องจ่ายแพงอีกต่างหาก คนทำเพลงหน้าใหม่ก็โอดครวญว่า ไม่มีช่องทางเชียร์เพลง

 พ.ศ.นี้ มีช่องทางเยอะแยะ แต่คนทำเพลงกลับน้อยลงจนน่าตกใจ จึงทำให้ "เพลงใหม่" หาฟังยาก ทีวีดาวเทียม มันเลยวนอยู่กับเพลงใหม่ๆ ของค่ายใหญ่ไม่กี่ค่าย

 ความซ้ำซากจำเจที่ว่านี้ ก่อให้เกิดอาการเบื่อเพลงใหม่ ผมเลยหันไปพึ่ง "วิทยุ" แทน โดยค้นพบคลื่นที่ตรงกับ "รสนิยม" ของคนรุ่นมนต์รักลูกทุ่งภาคต้นฉบับ ไม่ใช่มนต์รักครึ่งควบลูกทางช่อง 3 เวลานี้

 นั่นคือ "คลื่นเอ็มโอแอล" ที่เคยเขียนถึงในคอลัมน์นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งคลื่นนี้มีเพลงลูกทุ่งเก่าๆ ให้ฟังมากกว่าคลื่นอื่น
 แถมนักจัดรายการส่วนใหญ่ยังคงเอกลักษณ์ "โฆษกวิทยุ" ยุคมนต์รักทรานซิสเตอร์" จะต่างจากอดีต ตรงที่สมัยนี้ไม่ต้องอ่านจดหมาย เพราะมีข้อความ "เอสเอ็มเอส" ส่งมาให้อ่านอย่างทันท่วงที

 ผมพยายามกลั้นใจฟังดีเจวัยทีนจัดรายการเพลงลูกทุ่ง ก็ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า "ทนฟังไม่ได้" เนื่องจากผมโตมากับยุคโฆษกเสียงทอง ไม่สนุกกับลีลาดีเจรุ่นใหม่มากนัก

 แม้ด้านหนึ่งคลื่นเอ็มโอแอลจะเป็นเสมือน "คลื่นเพลงประจำค่ายเฮียมานิต" แต่การเปิดเพลงใหม่ของทีมงาน ก็ดูไม่เป็นการยัดเยียดคนฟังจนน่าเกลียด

 อย่างไรก็ตาม ผมยังได้ฟังลูกทุ่งเก่าๆ ที่คุ้นหู รวมถึงกลอนลำดังในอดีต ในสัดส่วนที่มากกว่าเพลงใหม่(ค่ายเฮียมานิต)
 ความแตกต่างของคลื่นเอ็มโอแอล มันกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนรุ่นผม ต้องติดตามฟังทุกวัน และมันช่วยอาการ "เบื่อเพลงใหม่" คลี่คลายลงไปบ้าง

 ฉะนั้นคลื่นเพลงประจำรถของผมคือ คลื่นเอ็มโอแอล เปิดกันตั้งแต่เช้ายันดึก โดยเฉพาะรายการของ "ตุ๊ นิลุบล" และ "สาวเพ็ญ ภูไท" ที่มีกลอนลำเด็ดลูกทุ่งอีสานดังในอดีตมาให้ฟังเป็นระยะๆ

 ผมแอบคิดสโลแกนให้คลื่นเอ็มโอแอลว่า "คลื่นของคนรุ่นเรา" (คลื่นวัยทอง) เพราะมันเหมาะแก่การโหยหาวันวานอันหอมหวานเหลือเกิน

 ใครอยากบำบัดอาการเบื่อเพลงใหม่ ก็ทดลองฟังคลื่นเอ็มโอแอลเรดิโอ 89.75 ดูนะครับ!

"บรรณวัชร"