บันเทิง

Insects in the Backyard 
(บทความนี้ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง)

Insects in the Backyard (บทความนี้ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง)

30 ธ.ค. 2553

วันพุธที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ) มีมติ ห้ามไม่ให้ภาพยนตร์ “Insects in the Backyard” เข้าฉายในราชอาณาจักรไทย หลังผู้สร้าง-กำกับ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ยื่นอุทธรณ์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมหลังหนังของเธอถูกคำสั่งห้าม

 หลังพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2552 หนังทุกเรื่องที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราต้องมีการจัดเรตติ้งของหนังให้เหมาะสมกับกลุ่มอายุผู้ชมทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ ส. ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมให้มีการชม ท.ภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมทั่วไป น. 13+ ภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 13 ปีขึ้นไป น.15+ ภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉ. 20 ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้ชมอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าชมโดยเด็ดขาด (ตรวจบัตรประชาชน) และภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในราชอาณาจักร

 กฎหมายฉบับนี้ ผู้เกี่ยวข้องในวงการหนังรวมทั้งผู้ชมกลุ่มหนึ่งต่างมีข้อกังขาว่า ในเมื่อมีการแบ่งประเภทของหนังตามกลุ่มอายุผู้ชมแล้ว เหตุใดจึงต้องมี ‘แบน’ หรือ ‘ห้ามฉาย’ อีก เพราะนั่นหมายถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน

 และในขณะเดียวกัน การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อภาพยนตร์ของคุณธัญญ์วาริน ก็ไม่หยุดลงเช่นกัน เมื่อเธอประกาศจะยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองสำหรับมติของบอร์ดชาติ ที่สั่งแบนหนังของเธอ นั่นหมายถึงว่าเส้นทางของ ‘เหล่าแมลงในสวนหลังบ้าน’ ที่จะออกเผยแพร่สู่สายตาประชาชนใช่จะมืดมนสิ้นหนทางไปเสียทีเดียว เพราะหากศาลปกครองรับคำฟ้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งคุ้มครอง หนังเรื่องนี้จากมติบอร์ดชาติ ก็มีสิทธิได้รับการทบทวนให้พิจารณาใหม่ และมีโอกาสออกฉายได้ หรือแล้วแต่ดุลพินิจของศาล

 การฉายทั้งสองครั้งในเมืองไทยของ “Insects in the Backyard” ในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เสียงตอบรับจากผู้ชมเป็นไปด้วยดี ไม่มีกระแสต่อต้าน หรือข้อกล่าวหาใดๆ ต่อหนังเรื่องนี้ออกมาให้ได้ยินแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่คำชี้แจงของคณะกรรมการทั้งสองชุดต้องตรงกันในประเด็นที่ว่า ‘หนังมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี’

 แม้ภาพที่ปรากฏใน “Insects in the Backyard” หลายๆ ฉาก จะดูวาบหวิว ล่อแหลม รุนแรงและส่อนัยทางเพศ หากแต่หนังได้สะท้อนประเด็นความพิกลพิการของสังคมไทยผ่านครอบครัวๆ หนึ่ง ที่มีพ่อเป็น ‘กะเทยแต่งหญิง’ มีลูกสาว-ลูกชาย ที่เรียกเขา (หรือเธอ) ว่า ‘พี่ธัญญ่า’ ซึ่งทั้งคู่ไม่เคยยอมรับสถานภาพทั้งในฐานะ ‘พ่อ’ หรือ ‘พี่สาว’ ส่วนแม่นั้นตายจากไปนานแล้ว ดูเหมือนกับว่า เรื่องราวในหนัง คล้ายเป็นกระจกสะท้อนภาพอันลักลั่นของสังคมไทย รวมถึงบทบาทของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์อยู่กลายๆ

 ‘เจนนี่’ และ ‘จอห์นนี่’ แสดงอาการต่อต้านพ่ออยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ ‘ธัญญ่า’ ก็ไม่เคยขาดตกบกพร่องต่อหน้าที่หัวหน้าครอบครัวรวมทั้งบทบาทของ ‘แม่บ้าน’ ที่ดี ความสุขเพียงหนึ่งเดียวคือจินตนาการทางเพศ ที่เธอนำมาใส่ในงานเขียนเพื่อหาเลี้ยงชีพ เธอมักจะดื่มและสูบบุหรี่อยู่เกือบจะตลอดเวลา

 ‘เจนนี่’ หนีห่างจากพ่อ ออกไปคบหากับเพื่อนชายที่ขายบริการให้พวกรักร่วมเพศ ส่วนเธอก็อาสาช่วยหารายได้ด้วยการขายตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้เป็นน้องชาย ชีวิตอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่น ภาวะความสับสนในใจก็ผลักดันให้เขาเจริญรอยตามพี่สาวไปติดๆ หลังเห็นพ่อกับเพื่อนจูบกันในวันที่เขาชวนมาเที่ยวบ้าน

 นักเรียน-นักศึกษาขายบริการ ความหลากหลายทางเพศ คือสิ่งที่ปรากฏในสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา เราสามารถพบเห็นบุคคลเหล่านี้ได้ตามท้องถนนจนถึงบนหน้าหนังสือพิมพ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง หากแต่จะยอมรับและอยู่ร่วมกันมันได้แค่ไหน เหมือน ‘แมลงในสวนหลังบ้าน’ ที่แม้จะสร้างความรำคาญให้บ้าง แต่มันก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในบ้านหรือสังคมของเราโดยไม่หลีกลี้ไปไหนได้ เหมือนกับที่ ‘เจนนี่’ และ ‘จอห์นนี่’ รังเกียจพ่อของเธอที่เป็นกะเทย แต่ก็ต้องอยู่ร่วมชายคา และอาศัย ‘พ่อ’ คนนี้แหละที่คอยหาเลี้ยง

 เช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ในสังคมไทย มักจะปฏิเสธความผิดแปลก โดยไม่เคยพยายามที่จะเข้าใจหรือเปิดใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น คอยแต่จะป้องปราม ควบคุม กักขังเสรีภาพของการแสดงออกทางความคิดอ่านของคนที่คิดต่าง หรือหยิบเอาความจริงมาตีแผ่ แม้ในหนังที่ต้องพยายามดัดแปลงแฝงผ่านมาในรูปแบบเรื่องแต่งหรือจินตนาการเพื่อสะท้อนความจริงบางอย่างเหล่านี้

 ตั้งแต่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว มีหนังไทยสองเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย (ซึ่งไม่รู้ว่า มีการเข้มงวดกวดขันตามข้อบังคับบ้างหรือปล่าว) คือ “ผู้หญิงห้าบาป 2” และ “เจ้านกกระจอก” ที่ได้เรต ฉ.20 คือห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชมโดยเด็ดขาดและต้องมีการตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าชมอย่างเคร่งครัด ส่วนเรตอื่นๆ ทางโรงจะปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่าที่กำหนดเข้าไปดูหนังได้ ก็คงไม่สามารถห้ามปรามได้ เต็มที่ก็แค่แนะนำ แต่จะมีคนปฏิบัติตามแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง (มีข่าวว่าโรงหนังบางแห่ง ปล่อยให้เด็กมัธยมเข้าไปดู “น้ำตาลแดง” หน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่หนังได้เรต น.18+)

 ป่วยการที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ หากแต่ควรตั้งคำถามว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายสมควรมานั่งถกเพื่อหาทางแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมกันได้หรือยัง?

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"