บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ด้วยอานิสงส์ใจประเสริฐ  ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว

คมเคียวคมปากกา - ด้วยอานิสงส์ใจประเสริฐ ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว

24 ธ.ค. 2553

เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย

 เปิดเพลง “ดาวลูกไก่” ของ พร  ภิรมย์ ทั้งสองตอนฟังอย่างตั้งใจ ฟังซ้ำหลายๆ รอบพร้อมกับแกะคำร้องออกมาเป็นตัวอักษร ยิ่งฟังยิ่งซาบซึ้ง ทั้งในน้ำเสียงและทำนองแหล่ ทั้งเนื้อหานิทานชาดกที่เล่าเรื่องตำนานดาวอันสะทกสะเทือนใจ อย่างที่เคยว่าไว้แล้ว เมื่ออ่านคำร้องที่แกะออกมาเป็นวรรคตอน ผมพบลักษณะของกลอนหัวเดียว ที่ด้นไปแล้วลงด้วย “สระเอา” หรือ “สระอาว” 
 “มาเถิดลูกมาซุกอก ให้แม่กกก่อนตาย
แม่ขอกกเป็นครั้งสุดท้าย แม่ต้องตายตอนเช้า
อย่าทะเลาะเบาะแว้ง อย่าขัดแย้งเหยียดหยัน
จงรู้จักรักกัน  อย่าผลุนผลันสะเพร่า
เจ้าตัวใหญ่สายสวาท อย่าเกรี้ยวกราดน้องน้อง
จงปกครองดูแล   ให้เหมือนดั่งแม่เลี้ยงเจ้า
น่าสงสารแม่ไก่  น้ำตาไหลสอนลูก
เช้าก็ถูกตาเชือด  ต้องหลั่งเลือดนองเล้า
ส่วนลูกไก่ทั้งเจ็ด  เหมือนถูกเด็ดดวงใจ
พากันโดดเข้ากองไฟ ตายตามแม่ไก่ดังกล่าว
ด้วยอานิสงส์ใจประเสริฐ ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว”

 กลอนแหล่ หรือเพลงแหล่นี้ อยู่ยงคงคู่สังคมไทยยาวนาน เลี้ยงดู - ดูแลอารมณ์รู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก หลายรุ่น หลายยุคสมัย แม้ผมเองยังเชื่อได้ว่าส่วนหนึ่งก็ด้วยอานิสงส์จาก “ดาวลูกไก่” นี่แหละ จึงทำให้รักบทเพลง รักกาพย์กลอน รักศิลปะการใช้ภาษาไทย รักศิลปะการประพันธ์  กระทั่งรักมนุษย์ รักสัตว์ รักธรรมชาติ รักคุณธรรมน้ำใจ ตั้งแต่เล็กแต่น้อยที่พ่อชี้ชวนดูดาวกลุ่มต่างๆ  แล้วบอกชื่อดาวและเล่าตำนานดาวให้ฟัง พ่อเล่าตามที่พ่อฟังมา เป็นการเล่าต่อๆ กันอย่างมีรสชาติแตกต่างหลากหลาย 

 การเล่าผ่านกลอนแหล่ หรือเพลงแหล่ ของ พร ภิรมย์ ให้ทั้งรสชาติภาษาและชีวิต ถือเป็นบทกวียอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งของสังคมไทยเลยทีเดียว เป็นศิลปะการใช้ภาษาไทยที่งามคำ งามภาพ งามความหมาย ให้อารมณ์รู้สึกนึกคิดทั้งสวยงามและสะทกสะเทือนใจ ให้จินตนาการทั้งด้านนอกด้านในจิตใจมนุษย์

 ผมถึงว่า ไพฑูรย์ ธัญญา นักเล่าเรื่องแห่ง “ก่อกองทราย” ยังบอกว่า “ง่าย แต่งาม เป็นลักษณะเรื่องเล่าที่สะเทือนใจจริงๆ” 
 “พระธุดงค์ลงกลด ตะวันก็หมดแสงส่อง
อาศัยโคมทองจันทรา ที่ลอยขึ้นมายอดเขา
ฝ่ายว่าสองยายตา  เกิดศรัทธาสงสาร
พระผู้ภิกขาจาร  ต้องขาดอาหารมื้อเช้า
ดงกันดารย่านนี้  หรือก็ไม่มีบ้านอื่น
ข้าวจะกล้ำน้ำจะกลืน จะมีใครยื่นให้เล่า
พวกฟักแฟงแตงกวา ของเราก็มาตายหมด
นึกสงสารพระจะอด ทั้งสองกำสรดโศกเศร้า
สักครู่หนึ่งตาจึงเอ่ย นี่แน่ะยายเอ้ยตอนแจ้ง
ต้องเชือดแม่ไก่แล้วแกง ฝ่ายยายไม่แย้งตาเฒ่า
ฝ่ายแม่ไก่ได้ยิน  น้ำตารินหลั่งไหล
ครั้นจะรีบหนีไป  ก็คงต้องตายเปล่าเปล่า”

 หมู่นี้ผมชอบฟังเพลงแล้วแกะเนื้อเก็บไว้ เป็นความบันเทิงที่ได้ฝึกทักษะภาษา ได้พบคุณลักษณะหลากหลายของคำร้อง อย่างเพลง “เปิบข้าว” โดยวง “คาราวาน” เรารู้กันอยู่แล้วว่ามาจากกาพย์ยานีของ จิตร ภูมิศักดิ์ แบบ “เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ” และผมเพิ่งพบว่าเพลง “อีสานบ้านของเฮา” ของ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ก็ใช้ทำนองสรภัญญะเหมือนกัน เพื่อปลุกชีวิตกาพย์ยานี “หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแลงค่ำลงมา” กระทั่งถึงเพลง “ดาวลูกไก่” ก็ได้คุณลักษณะกลอนหัวเดียว ที่สามารถนำไปใช้ประกอบบรรยายในฐานกวีนิพนธ์ ซึ่งครูภาษาไทยทั่วไปก็สามารถเปิดเพลงอ่านเนื้อเพลงสอนนักเรียนได้
 ครับ ตำนานดาวยังไม่จบตรงนี้...

"ไพวรินทร์ ขาวงาม"